ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
รุ่งแจ้ง แห่งปี ริมฝั่งเจ้าพระยา ที่วัดอรุณ (ตอน 1/2)
Project กรุงเทพ บ้านฉัน โดย เป้ใบ รองเท้าคู่

พระปรางค์วัดอรุณ ตั้งตระหง่าน เป็นแลนด์มาร์คให้กับ กรุงเทพ มาช้านาน เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวจากต่างแดน จะต้องมาสักครั้ง ไม่อย่างนั้น ก็เหมือนมาไม่ถึงประเทศไทย ... แต่ตัวผมเอง ตั้งแต่เกิดมา นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ เหยียบย่าง มาที่นี่ แบบจริงจัง

และวันที่มา เป็นเทศกาลใกล้สิ้นปี มีคนจำนวนมาก หลั่งไหลมา เพื่อความเป็นมงคลกับชีวิต สมดัง นามว่า วัดอรุณ ... อรุณรุ่ง แห่งปี ... อรุณรุ่ง แห่งชีวิต ที่จะเริ่มอีกครั้ง

ผมเดินเก็บภาพไป แทบจะทุกย่างก้าว นับตั้งแต่ เดินพ้น วังพระเจ้าตาก ซึ่งครั้งหนึ่ง วัดแจ้ง หรือวัดอรุณ แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของวังพระเจ้าตาก จนกระทั่งสิ้นพระเจ้าตาก แล้วย้ายวัง ไปยังอีกฟากฝั่ง ของแม่น้ำ

ผู้คนจำนวนมาก ที่กราบไหว้พระ ควันธูปควันเทียน ตลบอบอวล ไปทั่วบริเวณ

ไม่ว่า ผมจะเดินไปส่วนไหนของวัด พระปราง ก็ยืนตระหง่าน อยู่เบื้องหน้าผมตลอด

เช่นเดียวกับ รูปสลักหิน จากประเทศจีน อันไกลโพ้น มีให้พบเห็นทั่วไป ในวัดแห่งนี้

ความงดงาม แข็งแกร่ง ของพระปราง ดูจะตัด ขัดแย้ง กับอ่อนช้อย ของ ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

คติความเชื่อ ที่ผสมผสาน กันอย่างหลากหลาย สะท้อนออกมา ยังสิ่งที่สร้างขึ้น

พระปราง ได้รับการบูรณะ มาหลายครั้ง ... เพื่อให้ ความงดงาม แบบดั้งเดิม ยังคงอยู่ตราบชั่วรุ่นลูก รุ่นหลาน

ความยิ่งใหญ่ แห่งอาราม บ่งบอก ถึงความมั่งคั่ง ของผู้ที่สร้างอาราม

และนอกเหนือ จากความมั่งคั่ง ของผู้สร้างอาราม ... คือ ความศรัทธา ที่ยิ่งใหญ่

ผมถ่ายรูปมามากมาย ... ถามตัวเอง เหมือนกันว่า ทำไม ต้องนำรูปมาลงมากมายด้วย ดูน่าเบื่อ มากกว่า น่าสนใจ ... แต่มานึกอีกที ถ้าเก็บรูปไว้ในคอมฯ ที่บ้าน คนที่จะดูได้ ก็มีแค่ผมคนเดียว ... บางครั้ง ผมต้องการค้นรูปอะไรสักอย่าง ผมหาไม่ได้ ... ดังนั้น ... ลงไปเถอะ คนที่ไม่อยากดู เขาก็คงไม่ดูหรอก

อย่างรูปนี้ ทำให้ผมนึกว่า คนปั้น เขาเอาใคร เป็นจินตนาการต้นแบบ ของเขา คนไทย ไม่น่าจะมีเค้าโครงหน้าแบบนี้

รูปหินแกะสลัก ที่มี หนวดพลิ้ว ขนาดนี้ ทำให้ผมนึกในใจว่า ช่างเขาสลักได้อย่างไร

ลองเปลี่ยนมุมดูบ้าง บางครั้ง แค่เปลี่ยนมุมมอง ก็ให้ความรู้สึกที่ต่างออกไป ... เขาถึง ต้องมีบริษัท บริหารภาพพจน์กันนี่เอง

เศษกระเบื้อง เวลาดูไกล ๆ งดงามนัก หากดูใกล้เข้ามา ก็คือ เศษกระเบื้อง

วันที่ผมที่ผมมาที่นี่ ส่วนหนึ่งกำลัง ปิดซ่อม ... ครับ กำลังซ่อมพระปราง ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะ ปูนเริ่มเปื่อย ผุพังไปตามกาลเวลา เชื้อรา กำลังงอกงาม

ผมสงสัย ว่า นี่เป็นแท่นอะไร ... เลยถามพี่ รปภ. ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ผมตอนนั้น ... พี่เขาบอกว่า เป็นที่สำหรับ วางของที่คนนำมาทำบุญ ... ผมก็เลยหลับตานึกถึง ... เวลาแม่ช้อย กับคุณพลอย มาทำบุญ ก็จะมี ถ้วยโถโอชาม พร้อมบ่าวไพร่ติดตาม ... มาถึงตรงนี้ ก็คงจะวางพัก ของที่จะถวายพระ ตรงนี้ นี่เอง

ผมสงสัยจริง ๆ จัง ๆ ว่า นักรบ ลงพุง แบบนี้ เวลารบ จะรบไหวหรือเปล่า

การก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่แบบนี้ ในยุคนั้น ... เขียนแบบ ... ยังไง เคยสงสัยบ้างไหมครับ ... น้ำหนัก มากขนาดนี้ มาสร้างริมน้ำ แบบนี้ ถ้าฐานรากไม่แน่จริง คงทรุดแน่ ๆ

ผมพยายามหลับตานึก ว่า ช่วงก่อสร้างนั้น ช่าง ต้องสร้างอย่างไร

ผมเคยดูช่างสร้างบ้าน เขาจะค่อย ๆ จับเฟี้ยม ... เขาบอกว่าอย่างนั้น ... กระเบื้อง คงจะมาตกแต่งภายหลัง หลังจากที่โครงสร้างหลักเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ช่างติดแต่ง กระเบื้อง คงมีไม่มากนัก เพราะผมดูทีละช่อง ๆ จะเหมือน ๆ กัน ถ้าไม่ใช่ทำตามแบบที่ร่างไว้ ก็คงจะทำด้วยช่างคนเดียวกัน

ตัวละคร ในรามเกียรติ ถูกปั้นขึ้นทีละตัว ๆ แน่ ๆ เพราะดูจะสอดรับ กับตำแหน่งที่ตรงนั้น อย่างนิ้วแต่ละนิ้ว เหมือนกับกำลังแบกอย่างจริงจัง ทีเดียว

การประดับกระเบื้อง ทำให้ผมนึกถึงวัดใหม่วัดหนึ่ง ในสถานที่ท่องเที่ยวในภาคเหนือตอนล่าง ที่กำลังลือลั่นแห่งหนึ่ง ที่นำเอากระเบื้อง มาประดับพื้นผิว เช่นเดียวกับที่นี่ หากต่างกันด้วยยุคสมัย และความคิด

ผมเดินดูอย่างละเลียด ดูไปทีละดอก ดูไปทีละใบ นึกถึงห้วงเวลา ที่ช่าง ค่อย ๆ วาง กระเบื้องทีละแผ่น ลงบนปูน ที่ยังไม่แห้ง ทีละชิ้น ทีละชิ้น

ผมไม่แน่ใจ ว่าเป็น อิฐสี หรือ สีทาอิฐ ... แต่ผม รู้สึกว่า สวยมาก

หุ่นนักรบ ... แฟชั่น การไว้หนวด ... ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไร ไม่มีทรงไหน ที่ได้รับความนิยม เป็นพิเศษ

ส่วนนี้ น่าจะเป็น ปูนที่หล่อ ในแบบ แล้วนำมา ติดตั้ง ในที่ที่ออกแบบไว้

เวลาอะไร ที่สวย ๆ มารวมกันในที่เดียวกันมาก ๆ ความสวยจะหายไป ... จริงไหมครับ

การปาด ปูนที่โค้งเนี๊ยบ และแนวปูนคมกริบ ... ตอนต่อเติมบ้านผม ช่างหลายคน จะทำหลายอย่าง แต่จะมีช่างฝีมือ คนเดียวเท่านั้น ที่จะปาดปูนได้ตรงแป๊ะ

ทำไม กินรี ต้องแอบอยู่ในช่อง ด้วย

ทำไม ระเบียง จะต้องซิกแซก ... แนวไม่ตรงแป๊ะ ... เป็นมาตั้งแต่สร้าง หรือมาเป็นตอนซ่อม ... ช่วงก่อสร้าง ช่างน่าจะขึงเชือก ผมพยายามมองหลาย ๆ มุม ก็ไม่ตรง

แต่ทุก ๆ มุมที่ผมมอง ผมเห็นได้ถึง ความอลังการ ... เห็นถึงความศรัทธา

ยังมีภาพอีกมากมายที่เก็บมา ว่างเมื่อไร จะมานำเสนออีกครับ แต่ตอนนี้ ของ จบแค่นี้ก่อน


รุ่งแจ้ง แห่งปี ริมฝั่งเจ้าพระยา ที่วัดอรุณ (2/2) คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา