ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
รุ่งแจ้ง แห่งปี ริมฝั่งเจ้าพระยา ที่วัดอรุณ (2/2)
Project กรุงเทพ บ้านฉัน โดย เป้ใบ รองเท้าคู่

การได้สัมผัส กับความรุ่งเรืองในอดีต เป็นน้ำทิพย์ชโลมใจ ให้เราได้มองไปสู่อนาคต สร้างความมุ่งมั่น ในการเดินก้าวย่างต่อไป แม้ว่า บ้านเมืองจะล่มสลายลงในอยุธยา หากช่วงเวลาไม่นาน เมืองใหญ่ก็ถูกสร้างขึ้นอีกครั้ง บนฟากฝั่งแม่น้ำเดียวกัน ... แม่น้ำเจ้าพระยา

เคยมีคนบอกว่า การเที่ยวชมโบราณสถานให้งดงาม ต้องหลับตาดู ... ผมเองก็พยายามทำเช่นนั้น แต่ก็ต้องระมัดระวัง ไม่อย่างนั้น อาจจะตกบันไดได้ครับ

แม้แต่การถ่ายรูป ก็คงไม่ต่างกับการหลับตาดู ... พยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะหลบเสาโทรศัพท์ ยอดตึก หามุมมอง ด้วยสายตา ของผู้คน ในยุคสมัยนั้น ที่มองด้วยความปลาบปลื้ม ในสิ่งที่ผู้คน ได้แต้มแต่ง จนเกิดความวิจิตรไปทั่วพื้นที่แห่งนี้

แม้บางครั้ง สิ่งที่เห็น อาจจะดูเหมือนซ้ำ ๆ เพราะความตั้งใจให้เป็นฟอร์เมทเดียวกัน หากเมื่อพินิจแล้ว จะเห็นถึงความแตกต่าง อันบ่งบอกถึง อารมณ์ ความรู้สึก ของผู้สร้างงานศิลป์ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ

บางครั้ง การมองภาพรวม กว้าง ๆ เราอาจจะตะลึงถึงความอลังการ หากเมื่อมองเฉพาะ แบบเจาะจง คือ องค์ประกอบ ของความเรียบง่ายแห่งชีวิต กระเบื้องเพียงแผ่น ถ้วย โถ โอ ชาม เพียงใบ แม้แต่หอยเพียงตัว ต่างคือ ส่วนหนึ่ง ของความยิ่งใหญ่ ที่ปรากฏแก่สายตา สู่ชาวโลก

ผมเอง ยังคงยืนอยู่ที่ระเบียง ของพระปราง องค์ประธาน แล้วมองไปรอบ ๆ อย่างไม่รู้เบื่อ ... ผู้คน ไต่ขึ้นไปตามบันไดสูงชัน เพื่อขึ้นไปยังจุดที่สูงกว่า เพื่อให้มอง ในมุม ที่ต่างจากที่เห็นอยู่ ... แต่ผมคงจะแก่เกิน เลยตัดสินใจ ที่จะเลือกมอง ในระนาบเดิมต่อไป

ในระนาบเดิมของสายตา ยังคงมีอะไรให้มอง ให้ดู อีกมากมาย และชวนให้ตั้งคำถาม ถึง ความนึกคิด ของศิลปินผู้สร้างงานศิลป์ ในยุคนับร้อยปีที่ผ่านมา เช่น กินรีที่หน้าอิ่ม แก้มป่อง คอปล้อง แขนอวบ นมตั้งเต้า ... คือตัวแทนของผู้คน ในยุคนั้น หรือคือ ความคาดหวัง ว่า ผู้คนควรจะเป็น

แล้วยักษ์ คือ ตัวแทนของอะไร ศิลปินในยุคนั้น อยากบอกอะไรเรา ... คงไม่ใช่เพียง เต้นไปตามบท ของเรื่องราวในรามเกียรติ์เท่านั้น น่าจะมีอะไร ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ... หรือเปล่า ???

ในยุคที่เราใกล้ชิดกับสื่อ ที่ส่งข้อมูลข่าวสารให้เรา เพียงปลายนิ้วคลิก ... เราอยากรู้สิ่งใด ก็ค้นหาได้ง่ายดาย บางครั้ง เราไม่เคยสงสัย หรืออาจจะสงสัยบ้างเพียงแว้บบบบ แล้วก็ ลืมไป ว่า เคยสงสัย ... ว่าข้อมูล ที่เราได้รับนั้น จริงเท็จประการใด

และแว้บบบบบ นั้น ผมก็เกิดความสงสัยว่า ในยุคที่สร้างพระปรางมหึมานี้ ผู้คน ได้รับสารอะไร จากสิ่งนี้ ... ผู้คน ได้เข้ามาสัมผัส กับสิ่งที่เราได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่นวันนี้ หรือเปล่า ... เป็นความสงสัย จนอยากจะมีไทม์แมชชีน ที่ส่งผมเข้าไป เป็นผู้สังเกตการณ์ ในวันเวลาที่ผ่านมา

ผมก้าวลงบันไดพระปรางค์ ลงมาด้านล่าง ... เหล่ายักษ์ ตัวละคร ของเรื่องรามเกียรติ์ ยังคง เล่าเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง ... และงานปูนปั้น ยังคงประณีต ลงตัวกับ มุมบันได ที่ทอดลงสู่เบื้องล่าง อย่างลงตัว

ระหว่างเดินออกมาจากพระปรางค์ใหญ่ ผมมองขึ้นไปยังหน้าจั่วของอาคาร เห็นถึงความงดงาม ... แม้จะเป็นการบูรณะมามาก กว่า 1 ครั้งแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นการบูรณะ โดยอิงไว้กับ ความดั้งเดิม โดยเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้

ล่วงเลยเวลาเที่ยงมานานแล้ว ความหิว เริ่มคุกคามตัวผมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนต้องเดินตัด ออกมาทางด้านหลังวัด ผ่านมาทางด้านคณะหนึ่ง ซึ่งกำลังมีการบูรณะ กุฎิเหลือง หอไตร บ่อเต่า ซึ่งทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ให้คงทนถาวรต่อไป

ซุ้มประตู เข้าคณะหนึ่ง ทำให้ผมนึกถึง ละครแนวย้อนยุค ที่ผมเคยดูตอนเด็ก ๆ ... ชีวิตที่ผ่านมา นับร้อยปี ดูเหมือนจะ หยุดนิ่งอยู่กับที่ ณ สถานที่ตรงนี้

ผมไม่แน่ใจว่า แบบนี้หรือเปล่า ที่เราเรียกว่า ... ดาล ... แม้ว่า ช่วงที่ผมเป็นเด็กวัดในวัยเยาว์ จะเคยใช้ กับอุปกรณ์นี้มาตลอด

ผมไม่ได้ค้นคว้ามาให้ชัดเจน ... แต่รูปทรงอาคาร ได้บ่งบอกชัดเจนว่า เป็น หอกลอง และหอระฆัง อย่างไม่ต้องสงสัย ... คนรุ่นใหม่ ที่มีเครื่องบอกเวลา ด้วยมือถือ ที่เวลาแม่นยำ คงสงสัยว่า จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ไว้ทำไม

หากในยุคย้อนลงไปนั้น เรายังไม่มีเครื่องบอกเวลาเช่นทุกวันนี้ ... เสียงระฆัง เสียงกลอง ... คือเสียงสัญญาณ ที่จะบอกว่า ถึงเวลาแล้ว ที่จะต้องดำเนินกิจกรรมอะไร ณ ช่วงเวลานั้น ๆ

ในวัยเด็ก ผมจะตื่นเต้นทุกครั้ง เมื่อหลวงลุง ให้ผมหวดไม้ ลงบนหน้ากลองเพล ... หลวงลุงบอกว่า ตีให้สุดแรง ลงบนหนังหน้ากลอง ไม่ต้องกลัว ว่ากลองจะขาด ... เสียงกลอง ดังไปทั่วบริเวณวัด บอกให้รู้ว่า ถึงเวลา ฉันเพล แล้ว

ผมเอง ให้รู้สึกทึ่ง กับงานปูน ของที่นี่ อย่างต่อเนื่อง ... การออกแบบ หอกลอง หอระฆัง ไม่เพียงแต่ จะให้ดูงดงาม หากจะต้องคำนึงถึง เสียงที่แพร่กระจายออกไปทั่วทิศ แม้ว่า ผู้ออกแบบในยุคนั้น จะไม่ได้เรียนฟิสิกค์ ชั้นสูง ที่จะต้องคำนวณ เส้นตัดของเส้นเสียง ที่จะก่อให้เกิดเสียงสะท้อนออกไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ... หากประสบการณ์ ได้บอกว่า จะต้องสร้างหอ ให้กว้าง ให้ยาว ให้สูง เพียงไร เสียงถึงจะดัง มากที่สุด ที่จะดังได้

อยู่ ๆ ความคิดก็ หยุด สะดุด .. ลองปล่อยเวลา ให้ผ่านไปสักพัก คิดว่าจะกลับมาเขียนอะไรได้ต่อ แต่เอาเขาจริง ๆ ก็นึกไม่ออก ว่าจะเขียนอะไรต่อ .. คงต้องวางไว้แบบนี้ก่อน นึกออกเมื่อไร ค่อยกลับมาเขียนใหม่ เพราะตอนที่เก็บภาพมานั้น ในหัว มีเรื่องที่จะบอกเล่า มากมายนัก ไม่ว่ากันนะครับ ดูรูปไปแล้ว มโน ไปพลาง ๆ ก่อน


รุ่งแจ้ง แห่งปี ริมฝั่งเจ้าพระยา ที่วัดอรุณ (1/2) คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา

โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ ชุมพร ปางอุ๋ง ชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร ที่พักมีจักรยานให้ยืม หมู่บ้านเซรามิคเกาะคา ลำปาง ทุเรียนศรีสะเกษ ปฏิทินท่องเที่ยวชุมชน ล่องแก่งหนานมดแดง พัทลุง พรหมโลก นครศรีธรรมราช ทะเลน้อย ปากประ พัทลุง ล่องแก่ง ล่องเรือ พายเรือ บ้านอีต่อง เหมืองปิล๊อก อัมพวา เชียงดาว แม่กำปอง