ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
จากวัดนักบุญอันนา สู่บ้านลุงโฮ
นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

บ่ายจัดแล้ว ผมยังอยู่ที่ วัดนักบุญอันนา บ้านหนองแสง ยืนคุยกับช่างรับเหมาที่มาบูรณะ อาคารที่วัดแห่งนี้ ช่างบอกว่า ทางวัดก็ทำไปเรื่อย ๆ ตามกำลังเงิน ที่ได้รับบริจาคมา หากใครสนใจจะร่วมบูรณะอาคารในวัด สามารถติดต่อบริจาคได้โดยตรง กับทางคุณพ่อเจ้าอาวาสได้โดยตรง

และเพราะเป็นช่วงบ่ายจัด ทำให้การถ่ายภาพโบสถ์ของวัด ทำได้ยากมาก เพราะมุมที่จะถ่าย เจอกับดวงอาทิตย์ดวงโต ก็เลยทำให้เก็บภาพได้ไม่มากอย่างที่คิดไว้ อีกอย่าง ผมต้องทำเวลา ที่จะปั่นจักรยาน ไปบ้านลุงโฮ ซึ่งอยู่ออกไปนอกเมืองอีกด้านหนึ่ง จะว่าไกลก็ไม่เท่าไร แต่เนื่องจากปั่นจักรยาน มาตั้งแต่ตะวันขึ้น จนนี่ตะวันใกล้จะตก สังขารเริ่มจะไม่อำนวยแล้ว

ทางไป บ้านลุงโฮ เป็น ทางขึ้นเนินค่อนข้างยาว แม้ไม่สูงมากนัก แต่ก็กินแรงคนแก่ได้ไม่น้อย ดีว่า จักรยานที่น้อง ๆ ที่ the river ช่วยติดต่อหาเช่าให้ เป็นจักรยานที่ดีพอสมควร การทดเกียร์ให้เหมาะ ทำให้ไม่ต้องลงจูงให้เป็นที่อับอายผู้คน

ถึงบ้านลุงโฮ ก็ใกล้ค่ำแล้ว เก็บภาพได้นิดเดียว คุยกับคุณพี่ผู้ชายได้อีกหน่อย คุณพี่ผู้หญิง ซึ่งเป็นรุ่นหลาน ของญาติลุงโฮ เข้ามาทักว่า เมื่อเช้าเห็นผมขี่จักรยาน ถ่ายรูปอยู่ที่ตลาดด้วย ... และบอกผมว่า ให้รีบกลับได้แล้ว เดี๋ยวจะค่ำ ตอนขี่กลับจะต้องผ่านป่าช้า ... พี่ผู้ชายบอกว่า ไม่ต้องกลัว ไม่อะไรหรอก แต่ผมเชื่อพี่ผู้หญิงมากกว่า ว่าควรจะกลับได้แล้ว

เรื่องราว ความเป็นมา ของ บ้านลุงโฮ แห่งบ้านนาจอก ผมคงไม่ต้องกล่าวถึงตรงนี้นะ เพราะสามารถหาได้ทั่วไปทางเน็ตอยู่แล้ว แต่บ้านที่ตั้งอยู่ ณ เวลานี้ เป็นบ้านที่ได้สร้างขึ้นมาใหม่ แทนบ้านเก่าที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงเค้าเดิมไว้เท่าที่จะทำได้ รวมทั้ง ต้นไม้ยืนต้นต่าง ๆ ที่บุคคลร่วมสมัย จำได้ ก็มีป้ายปักเอาไว้

เอาเป็นว่า ตามผมไปดู ด้วยรูป แล้วกันนะครับ

มูลนิธิบาทหลวงเอดัวร์นำลาภ วัดนักบุญอันนา กำลังบูรณะ โดยคงเค้าโครงภายนอกไว้แบบเดิม ๆ โดยวัดเป็นผู้ดำเนินการเอง ร่วมบริจาคเงิน ได้โดยตรงที่คุณพ่อ เจ้าอาวาส ที่วัดเลยครับ

รูปทรงอาคาร ที่ระบุปีสร้างไว้ว่า 1932 ถึงปีนี้ มีอายุ 82 ปีแล้ว ช่างที่กำลังบูรณะอาคารอยู่ บอกผมว่า มีการต่อเติมมาหลายครั้ง เค้าโครงเดิมเป็นยังไง ไม่แน่ใจแล้ว

อาคารมูลนิธิฯ ที่วัดนักบุญอันนา ที่กำลังบูรณะอยู่นี้ มีความตั้งใจว่า จะทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ผมไม่มีรายละเอียด ว่าจะทำเป็นแนวไหน อาคารบูรณะมาเป็นเวลาพอสมควรทีเดียว และคงจะใช้เวลาต่อไป อีกไม่น้อย

โบสถ์วัดนักบุญอันนา ที่ บ้านหนองแสง โดยส่วนตัว ผมไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับวัด เลยเป็นว่า ถ่ายรูปสวย ๆ มาฝากก็แล้วกันครับ

ด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ ทำให้ รูปปั้นดูมีสีสรรค์ มากกว่าแต่ก่อน เพื่อน ๆ คิดเหมือนผมไหมครับ

อีกมุมหนึ่ง ของ วัดนักบุญอันนา เป็นช่วงบ่ายจัด ย้อนแสงสุด ๆ ไม่มีทางเลือกอื่นเลย สำหรับ การที่ต้องถ่ายมุมนี้

โบสถ์ตระการตา ของวัดนักบุญอันนา บ้านหนองแสง ตั้งอยู่ริมฝั่งโขง

ประตูวัดนักบุญอันนา วันฟ้าใส อากาศเย็นฉ่ำ

ภาพนูนต่ำ ประตูวัด นักบุญอันนา บ้านหนองแสง

อีกมุมหนึ่ง ของประตูวัด นักบุญอันนา บ้านหนองแสง

บ่ายคล้อยแล้ว ผมรีบปั่นจักรยานออกจากวัดนักบุญอันนา บ้านหนองแสง ลัดเลาะมาเรื่อย ๆ มาติดไฟแดง ตรงแยกนี้ และก็เหมือน ๆ กับหลาย ๆ ที่ ที่ต้องมี หลักกิโลขนาดใหญ่ ทำไม ต้องเป็นหลักกิโลแบบนี้ด้วย ก็ไม่รู้เหมือนกัน

หลังจากใช้ตัวช่วย เปลี่ยนเกียร์สารพัดเกียร์ เพื่อจะลากสังขารขึ้นเนินมาเรื่อย ๆ ในที่สุด ก็มาถึง ซุ้มประตูบ้านนาจอก แต่ทางก็ยังต้องขึ้นเนินต่อไป

พอเห็นป้าย บ้านลุงโฮ ป้ายแรก ผมก็เลี้ยวขวับเข้าไปทันที ผลก็คือ เป็นทางเข้าด้านหลังบ้าน ที่จริง ต้องเลยมาอีกซอยหนึ่ง ถึงจะมาทางหน้าบ้าน ตรงนี้

ดอกไม้สวย ๆ ทั้งหน้าบ้าน และในบ้าน ลืมถามคนในบ้านว่า ช่วงที่ ลุงโฮอยู่ ท่านเป็นคนโรแมนติก ขนาดปลูกดอกไม้สวย ๆ รอบบ้านแบบนี้หรือเปล่า แต่เท่าที่ดูสารคดีเกี่ยวกับชีวประวัติท่าน ไม่น่าจะใช่นะครับ

ป้ายหน้าบ้าน พร้อมกับ ธงชาติชาว AEC เข้ากับยุคสมัย

จากประตู เห็นตัวบ้านอยู่ท่ามกลางแมกไม้ เป็นบ้านไม้ ชั้นเดียว พื้นติดดิน พี่ ๆ ที่มาพูดคุยด้วย บอกว่า บ้านหลังนี้ ปลูกขึ้นแทนบ้านหลังเดิม ที่ผุพัง ไปตามกาลเวลา แต่ก็รักษาเค้าโครงเดิมเท่าที่จะทำได้

สวนดอกไม้สวย ๆ รอบบ้าน ให้ความรู้สึกอ่อนลง แม้จะเดินเข้ามาสู่บ้าน ของ นักปฏิวัติที่โชกโชน อย่างลุงโฮ ก็ตาม

ป้ายบอกความเป็นมา ของสถานที่แห่งนี้ ... ไม่รู้ว่า ณ ดินแดนของเขา จะมีอนุสรณ์สถานแบบนี้ สำหรับ เหล่านักสู้ทางความคิด จากแดนสยามบ้างหรือเปล่า

มะพร้าวยืนต้นสูง ที่คนรุ่นลูกหลาน ได้บอกกล่าวไว้ว่า ลุงโฮได้ปลูกไว้ คราวที่ต้องมาใช้ชีวิต ณ ที่แห่งนี้

โคม ... สื่ออะไร ใครรู้บ้าง ช่วยบอกหน่อยสิครับ ผมอยากรู้เหมือนกัน

ด้านข้างของบ้านลุงโฮ ผมไม่ค่อยได้ถ่ายรูปภายในบ้าน เนื่องจากเป็นเวลาใกล้ค่ำ แสงน้อย อีกอย่างหนึ่ง ผมห่วงเรื่อง ออร์เดอร์ตามหลัง ก็เลยพยายามเลี่ยง ที่จะถ่าย

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้าน ผ่าน เรื่องราวของผู้นำ ที่ได้มาพำนักอาศัย ในดินแดนของเรา อาจจะทำให้เรา เข้าใจได้บ้าง ในเรื่องของคนของเรา ที่ต้องไปพำนัก ในดินแดนของเพื่อนบ้าน บ้างไม่มากก็น้อย

ชีวิตที่เรียบง่าย ในช่วงแห่ง การต่อสู้เพื่อกู้ชาติ ของลุงโฮ เป็นเรื่อง ที่เรา ๆ ท่าน ๆ น่าจะได้เรียนรู้ ทั้งจากตัวหนังสือ และ จากลูกหลาน คนร่วมสมัย ที่ได้มีโอกาสใช้ชีวิตช่วงหนึ่ง กับลุงโฮ ที่บ้านนาจอก

ผมเห็นเล้าข้าว อดถามไม่ได้ว่า ช่วงที่ลุงโฮมาพำนัก ณ บ้านหลังนี้ ลุงโฮทำนาด้วยหรือ ... คำตอบที่ได้ จากคนรุ่นหลาน อ้างอิง ไปถึงคนรุ่นเดียวกับลุงโฮ ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ผมเข้าใจ

อีกมุมหนึ่ง ของบ้านลุงโฮ เล้าข้าว + ล้อเลื่อน จัดวางเพื่อความสมบูรณ์ของบ้าน บ้านหนึ่ง ในยุคสมัยนั้น

ครัวที่แยกออกต่างหากจากตัวบ้าน ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม ของบ้านพักอาศัย ซึ่งปกติคนอีสาน จะเป็นอีกแบบหนึ่ง (ในความเข้าใจของผมนะครับ)

เพราะคำเตือน ของพี่สาว คนรุ่นหลานของเพื่อนลุงโฮ บอกว่า ผมควรจะขี่จักรยานกลับก่อนที่จะค่ำ เพราะเส้นทางต้องผ่านสุสาน ... คงไม่ใช่เรื่องผี แต่น่าจะเป็นเรื่องคนมากกว่า สัญญาณแบบนี้ เราไม่ควรมองข้าม

ผมจึงปั่นจักรยานกลับเข้าเมืองนครพนม ก่อนตะวันจะลับฟ้า ผ่านสุสานซึ่งด้านหนึ่งเป็นป่าเปลี่ยว ดูวิเวกพอสมควร ... จากชานเมือง บ้านนาจอก สู่ถนนคนเดิน ริมโขง ซึ่งบรรยากาศ ไม่ต่างกันมากนัก ด้วยบรรยากาศแห่งความเรียบง่าย ของเมืองเล็ก ๆ ที่สงบ

จบตอนนี้แล้วครับ


บ้านไม้ เรือนเก่า ริมฝั่งโขง (ตอนที่ 1/2) .. นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา