ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
วัดสระบ่อแก้ว วัดพม่าที่งดงาม ที่เมืองแพร่
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

วันนี้ เป็นวันที่สาม และเป็นวันสุดท้ายที่ผมจะเดินท่อม ๆ ถ่ายรูปในเมืองแพร่ พอตื่นมา ออกไปที่ระเบียงห้อง ก็พบกับฟ้าที่ใสกระจ่าง (อย่างกับโฆษณาครีมหน้าเด้งเลยนะครับ) แม้ว่าจะยังเป็นเวลาเช้าตรู่ก็ตาม ผิดกับสองวันที่ผ่านมา ที่อากาศคลุมเครือมาก เหมือนปกคลุมด้วยหมอกบาง ๆ ตลอดทั้งวัน ซึ่งคนถ่ายรูป ไม่ชอบเป็นอย่างยิ่ง แต่ทำไงได้ จะไปเปิดพัดลม ไล่หมอก ก็ไม่ได้

ไม่รอช้าเลยครับ รีบอาบน้ำแต่งตัว ปั่นจักรยานคู่ชีพ (ขอขอบคุณเทศบาลเมืองแพร่ ที่ให้จักรยานยืมตลอดเวลา ที่ผมอยู่ที่เมืองนี้ครับ เมืองอื่นน่าจะเอาเป็นต้นแบบบ้างนะ เขาไม่สงวนลิขสิทธิ) วันนี้ ปั่นออกไปทางถนนยันตรกิจโกศล เป็นถนนสายเศรษฐกิจในปัจจุบัน บรรยากาศ จะผิดจากสองวันก่อนที่ผมจะป้วนเปี้ยนแถว ถนนเจริญเมือง จนผู้คนคุ้นเคย ยิ้มทักทาย เหมือนเป็นสมาชิกของประชาคมที่นี่คนหนึ่ง

จุดหมายแรกของวันนี้ คือ พิพิธภัณฑ์เสรีไทย (เดี๋ยวว่าง ๆ ค่อยรีวิวเพิ่มต่างหาก) พอออกจากที่นี่แล้ว ผมเริ่มอาการหลงทางเล็กน้อย จนไปเจอ ร้านอาหารเล็ก ๆ ลักษณะเปิดบ้านขายอาหาร ดูร่มรื่นดี ผมไม่รอช้า เพราะยังไม่ได้กินข้าวเช้า ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้ก็สายมากแล้ว มีอะไรให้ผมกินบ้าง ผมถามพี่เขาไปแบบนั้นเลย พี่เขาก็ชี้ไปที่กระดานเล็ก ๆ สงสัยผมหิวจนตายลายเลยไม่เห็นในตอนแรก

แป๊บเดียว ส้มตำจานอร่อยพร้อมผักสด (สดมาก ๆ ๆ) แล้วก็ขนมเส้นน้ำใสอีก 2 ชาม ซึ่งตอนนี้ผมคุ้นเคยแล้ว พี่เขา ตักกระดูกหมูชิ้นใหญ่มาให้ผมแทะด้วย (ยืนยันว่าผมไม่ได้กระดิกหางแต่ประการใด) ก็หมดเกลี้ยง ชนิดยกชามสดกันเลย เบ็ดเสร็จแค่ 50 บาท มหัศจรรย์มาก ถึงมากที่สุด

พี่เขาบอกให้เลี้ยวซ้ายหน้า แล้วก็เลี้ยวซ้ายอีกที ก็จะถึง วัดสระบ่อแก้ว จุดหมายที่สอง ที่ผมจะไปวันนี้

วัดสระบ่อแก้ว เป็นวัดที่มีศิลปะการก่อสร้างเป็นแบบพม่า และเป็นวัดที่ชาวพม่าสร้างขึ้นเพื่อปฏิบัติกิจทางศาสนา

ประวัติความเป็นมา มีชนชาวพม่า 3 เผ่า คือ เผ่าพม่า เผ่าต่อสู้ และเผ่าไทยใหญ่หรือเงี้ยวที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เพื่อค้าขาย ทำงานในบริษัทที่ได้รับการสัมปทานการทำไม้และขุดพลอยที่ตำบลบ่อแก้ว ต่อมาได้ภรรยาเป็นคนไทย ต่างก็นับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกับคนไทยในจังหวัดแพร่ แต่มีพิธีกรรมต่างๆ ที่แตกต่างจากชาวไทย ทำให้มีอุปสรรคทั้งการใช้ภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมในการบำเพ็ญกุศลตลอดจนถึทำนองในการสวดมนต์ไหว้พระแม้แต่ภาษาบาลีก็ไม่เหมือนกับพระสงฆ์ไทยชาวพม่าจึงได้ร่วมใจกันสร้างวัดของแต่ละกลุ่มชนขึ้นเพื่อเป็นที่ทำบุญบำเพ็ญกุศลของตนขึ้นดังนี้

1. วัดจองเหนือ (วัดจอมสวรรค์) สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2447

2. วัดจองกลาง (วัดสระบ่อแก้ว) สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2419

3. วัดจองใต้ (วัดต้นธง) สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน

วัดสระบ่อแก้วหรือวัดจองกลาง เป็นวัดที่ชาวพม่าซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณสองข้างถนนน้ำคือ และถนนยันตรกิจโกศลเป็นผู้สร้าง วัดนี้ได้ชื่ออีกหนึ่งว่าวัดสามโพธิ์ เนื่องจากมีชนชาวพม่าตระกูล โพ สามตระกูลเป็นผู้สร้างและปฏิสังขรณ์

เท่าที่ค้นข้อมูลในเน็ต พบว่า วัดพม่า ที่ตั้งอยู่ในเมืองแพร่ จะสร้างขึ้นในช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 ผมไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องการทำไม้ แล้วก็การทำพลอย ที่บ้านบ่อแก้ว เด่นชัย หรือเปล่า

ที่ชื่อว่า วัดสระบ่อแก้ว ก็คงเนื่องมาจาก ก่อนหน้านี้ มีสระอยู่ในวัด แต่ต่อมาสระนั้น ก็ถูกถมไป ก็คงด้วยเหตุผล ของความเจริญ ที่มีมากขึ้น จากการที่ต้องใช้น้ำจากสระ มาเป็นใช้น้ำจากท่อประปาแทน ซึ่งก็เข้าใจได้ไม่ยาก

เวลามาวัดพม่า ทีไร ผมนึกถึงหนังของท่านมุ้ยทุกที ภาพสิงห์ขนาดใหญ่ ที่อยู่หน้าประตูวัง อะไรทำนองนั้น .. แม้ว่า สิงห์ที่วัดสระบ่อแก้ว เมืองแพร่ จะตัวไม่ใหญ่เท่าก็ตาม

ป้ายในวัด ระบุว่า ที่นี่คือ พระธาตุกู่กองคำ ค้นหาประวัติความเป็นมาไม่เจอครับ แต่ภาพโดยรวม ส่วนใหญ่ จะเป็นสิ่งที่สร้างใหม่ ๆ คงมีอายุไม่มากนัก

แหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศไม่ร้อน ไม่หนาว แล้วก็ ฟ้าใส ๆ ไม่ขมุกขมัว อย่างเมื่อสองวันที่ผ่านมา ทำให้นักเดินทางอย่างผม สนุกกับการเดินวนไปวนมา ในพื้นที่ ที่ไม่ได้กว้างเท่าไรนัก แล้วก็หามุมกล้อง เป็นที่เพลิดเพลิน

สิ่งหนึ่ง ที่ผมไม่แน่ใจว่า เรามองข้าม หรือไม่ได้มอง คือ ภูมิทัศน์อันอุจาด คำนี้ ผมจำเขามาพูดอีกทีนะครับ ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร 5555 ถ้าให้พูดเอง ดูมันรกรุงรังมาก คงจะเป็นเพราะ เวลาเขาจะสร้างอะไร เขาก็สร้าง ต่างคนต่างสร้าง ไม่สนใจว่าสิ่งที่สร้าง มันจะไปกระทบกับอะไรบ้าง

อย่างเช่น พระธาตุกู่กองคำ อันงดงามนี้ ต้องยืดตัวแข่งความงามกับเสาโทรศัพท์ ที่ตั้งอยู่เพียงรั้วคั่น เลยต้องเป็นหน้าที่ของตากล้อง ที่จะต้องหลบมุมให้พ้น ให้ได้ อย่างในภาพนี้ ถ้าหันกล้องไปทางซ้ายแค่องศาเดียว เสาก็จะโผล่มาเสนอหน้าเลยครับ

ตอนแรก ผมลองไปปรับภาพให้ตั้งตรง ใน PS แบบที่ผมเพิ้งไปค้นเจอ (ถ่ายรูปมาตั้งนั้น เพิ่งค้นเจอ 5555) แต่ดูเปรียบเทียบไปมา ผมว่า แบบดั้งเดิมดีกว่า มันจะเอียง จะเอน แต่นึกถึง ตอนที่ผมไปนั่งเล็ง อยู่ตรงสุดรั้ว ผมก็เห็นแบบนี้ จริง ๆ นี่นา แล้วจะไปปรับมันทำไม

พอฟ้าใส แดดก็แรง เงาก็จัด แฟรซก็ไม่มี .. นางฟ้าของผม ก็เลยหน้ามืดไปนิดนึง จะว่าไป ก็ไม่นิด เยอะเลยต่างหาก

เจดีย์ในวัดพม่า กับวัดมอญ ผมว่าคล้าย ๆ กัน ไม่รู้ว่า ใครมีอิทธิพล ใครได้รับอิทธิพล แต่ตามประวัติศาสตร์พม่า เดิมอยู่ทางตอนเหนือ มอญอยู่ทางตอนใต้ แล้วพม่า ก็มายึดเมืองมอญ แถมตั้งเป็นเมืองหลวง อยู่นานทีเดียว จนอาจจะทักทึกเอาว่า หน้าตาเจดีย์แบบนี้ เป็นของฉัน ก็ได้นะครับ ... อันนี้ ผมว่าของผมเองนะครับ ไม่มีเอกสารหรือหลักฐานอะไร อ้างอิง แม้แต่แผ่นเดียว

ผมชอบมาก เลยครับ กับ เครื่องบนยอดเจดีย์ของวัดพม่า ดูจะมีอะไรที่ตุ้งติ้ง อ่อนหวาน มีชีวิตชีวา ไม่แข็งกระด้าง .. บางที สิ่งปลูกสร้าง อาจจะสะท้อนเบื้องลึก ของอารมณ์ ความรู้สึก ของเชื้อชาติ ชนชาติ บ้าง ไม่มากก็น้อย

ผมก็ยังวนเวียนไม่เลิก กับพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งเป็น พื้นที่ที่ปลอดภัยจากสัตว์สี่เท้า ตอนที่ผมเข้ามาในพื้นที่วัด มากันเป็นฝูงเลยครับ ทำเอาผมลังเล เป็นเวลาพอสมควร แต่บริเวณที่ผมถ่ายรูป จะมีรั้วรอบขอบชิด แล้วก็มีประตูที่ปิดไว้ มีกลอนใส่ได้ด้วย สัตว์สี่ขา ถึงจะฉลาดยังไง ก็คงเอื้อมขาหน้า ไปเปิดกลอนไม่ได้แน่นอน .. ข้อนี้ ก็เป็นข้อหนึ่ง ที่แหล่งท่องเที่ยวไม่ควรมองข้ามนะครับ

จากจุดที่ผมอยู่ เล็งไปทางอาคารศูนย์เรียนรวม เอ๊ย อาคารรวมของวัด ก็จะพบความงานประมาณนี้ .. งานฉลุไม้ .. เมื่อหลายปีก่อน ผมต้องมางานให้บริษัท เลขาเจ้านาย จองโรงแรมแม่ยมพาเลสให้ผม เจ้านายคงอยากให้ผมพักแบบสบาย ๆ (เพราะเป็นงานที่ไม่ใช่หน้าที่ของผม แต่เขาขอให้มาช่วยทำให้หน่อย) เลยจองห้องหรูให้นอน

อีกมุมหนึ่ง ของ งานฉลุไม้ สวยจริง ๆ ครับ

การเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว ผมว่าเป็นอะไร ที่เพลิดเพลินทีเดียวครับ อย่างเช่นเวลานี้ ผมอ้อยอิ่ง นั่งลงกับพื้นวัด ซึ่งปูด้วยหินอ่อน มีฝุ่นบ้าง แต่จัดว่าสะอาดมาก ไม่ต้องกลัวกางเกงจะเปื้อน มองมุมโน้น มุมนี้ นั่งพิงรั้วบ้าง มุมตรงนั้นบ้าง ปีนตรงโน้นบ้าง

เบื่อ ๆ ก็นั่งเฉย ๆ ทอดอารมณ์ (ไม่ต้องใส่น้ำมันก็ได้นะครับ ถ้ากลัวอ้วน) .. นึกถึงนิยายเรื่อง ชูมาน ของพิบูลศักดิ์ ละครพล ที่ผมเคยอ่านตอนหนุ่ม ๆ .. ซึ่งไม่เห็นจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับสิ่งรอบ ๆ ตัวตอนนี้ สักนิดนึง

หลายคน คงจะเคย สนุกกับการได้เล่นกับกล้อง แบบงูและปลา อย่างเช่น เดินไปให้สุดพื้นที่ แล้วก็ซูมให้สุดกระบอก ตั้งความกว้างของช่องรับแสง ให้กว้างที่สุด แล้วก็แชะ อะไรประมาณนั้น

นางฟ้า หรือ เทพพนม อะไรกันแน่ .. แต่ที่แน่ ๆ ผมก็ยังสนุก ที่จะเล่นอะไร กับ กล้อง เลนส์ แสง เรื่องราว มั่ว ๆ

ส่วนนี้ เป็นด้านหลัง ของ พระธาตุกู่กองคำ หรือด้านหน้า ก็ไม่แน่ใจครับ แต่ที่แน่ ๆ เป็นด้านตรงข้าม กับที่ผมถ่ายรูป ก่อนหน้านี้

ทริปนี้ จะเป็นไปไม่ได้เลย หากไม่มีจักรยานคันนี้ ขอขอบคุณเทศบาลเมืองแพร่อีกครั้ง และถ้าจะให้ดี พี่ ๆ ช่วยหยอดน้ำมันสักหน่อย ผมขี่ไป หอบไปเลยครับ

ผมไม่ถนัดเลย กับการรีวิวเรื่องอาหารการกิน แต่ร้านนี้ อยู่ตรงข้ามวัดสระบ่อแก้ว พอผมขี่จักรยานออกมา ก็เจอพอดี แถมกลิ่นหอมยังเตะจมูกผมอีกต่างหาก ไม่แวะไม่ได้แล้ว ...

ร้านข้าวเหนียวปิ้ง หน้าวัด ... ป้ายร้านพี่เขาเขียนตามนี้เลยครับ ผมกิน 2 ห่อ มากกว่านี้ ไม่ได้แล้ว เพราะมีคนเหมาไปหมด ยังปิ้งไม่ทัน คราวหน้า ผมจะโทรมาสั่งล่วงหน้า เบอร์โทร ขอโน๊ตไว้ตรงนี้เลยนะครับ แปะไว้ที่อื่น เดี๋ยวหาไม่เจอ 086-658-8028

คุณป้า ไม่โทรมาสั่งก่อน ก็เลยแห้ว บอกว่า เดี๋ยวจะมาเอาก็ได้

ผมถามว่า สูตรอร่อย เป็นของดั้งเดิม มรดกคุณย่า อะไรทำนองนั้นหรือครับ คุณลุงก็หัวเราะ บอกว่า ผมกับแฟน ก็เพิ่งทำไม่นานนี้เอง เราทดลองปรับสูตรไป ขายไป ชิมไป จนได้สูตรที่ทุกคนบอกว่าอร่อย ก็ล๊อกสูตรเลย .. อร่อยจริงครับ ผมเป็นคนชอบกินข้าวเหนียวปิ้งมาก แต่หาเจ้าอร่อยยาก .. ที่เคยกินมา ก็จะมีที่ถนนมิตรไมตรี ดินแดง (แต่นั่นมันนานมากแล้วนะครับ) แล้วก็ที่ข้าง ๆ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือป้าเล็ก อยุธยา แต่ล่าสุดผมไป ก็ไม่เห็นแล้วครับ

ขึ้นต้นเรื่องวัด แต่ทำไมจบลงตรงข้าวเหนียวปิ้งได้ ก็ไม่รู้ ... นักเดินทางชิลชิล อย่างผม ก็จะแบบนี้ละครับ เวลาไปเที่ยว แล้วไปนั่งในร้านกาแฟ ของโรงแรมหรู มันไม่ใช่สไตล์ของเรา ... สไตล์ใคร สไตร์มัน ไม่ว่ากันนะครับ

จบตอนนี้ก่อนครับ แต่ยังไม่จบ เรื่องที่ผมไปแพร่ ยังมีสต๊อกรูปอีกเยอะพอสมควร ถ้ายังไม่เบื่อ โปรดติดตามได้ครับ


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา