ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
บ้านไม้ เรือนเก่า ริมฝั่งโขง
นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เรื่องดีดีอย่างหนึ่งของเมืองเล็ก คือ ความสามารถในการคงไว้ ซึ่ง ประวัติศาสตร์ของชุมชน ไว้ได้ แม้จะไม่ใช่เรื่องที่เป็นความตั้งใจก็ตาม เมืองใหญ่ อย่าง กทม. บางกลุ่มธุรกิจก็ได้พยายามรักษาไว้ ผมก็ไม่แน่ใจว่า เพราะความรัก หรือเพราะรู้ว่าขายได้ เช่น ที่ตั้งของโกดังอิสเอเซียติก ซึ่งผมเห็นมาตั้งแต่ผมเกิด

หลายเมืองในชนบท บ้านไม้ เรือนเก่า กำลังถูกรุกไล่ ด้วยแผนธุรกิจที่คำนวณค่าตอบแทนความคุ้มค่า ออกมาเป็นตัวเงิน ต่อตารางเมตร ต่อระยะเวลา ต่ออัตราดอกเบี้ย และอะไรอีกหลาย ๆ อย่าง ยกเว้นอย่างเดียวที่ไม่มีในแผนธุรกิจ คือ คุณค่าของชุมชน คุณค่าประวัติศาสตร์ของผู้คนที่ดำรงอยู่

บางครั้ง เราก็พึงพอใจ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย จัดการง่ายดี เช่น เขื่อนริมโขง ที่โล่งตา แทนเรือนไม้เก่า ที่รกรุงรัง ... หาก ความไม่เป็นระเบียบ คือกำเนิดของชุมชน คือบ้านของต้นตระกูล คือถิ่นพำนักของผู้ทีสร้างเมืองนี้ขึ้นมา ... หากความความคิดของบางคน บางองค์กร กลับมองไม่เห็น กลับมองว่า เป็นสิ่งที่จะต้องรื้อทิ้ง และสร้างใหม่ !!!

บ่นยาวเลย ... ก่อนไปนครพนม ผมได้ดูหลายรีวิว ได้ข้อมูลมานิดหน่อย สิ่งหนึ่งของความตั้งใจ คือ การได้ไปถ่ายภาพ บ้านไม้ เรือนเก่า หากเมื่อได้เลาะ ๆ ดู ก็พบว่า เรือนเก่าจำนวนไม่น้อย ได้หายไปตามกาลเวลา ส่วนหนึ่ง เพราะธรรมชาติ เช่นลมพายุ ส่วนหนึ่งอาจจะเรื่องของเพลิงไหม้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องการปรับภูมิทัศน์ของเมือง ทำให้ผมไม่ได้ภาพอย่างที่ตั้้งใจไว้

วันนี้ เป็นวันที่สามของการมาเยือน นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง ผมยังคงตื่นแต่เช้า คว้าจักรยานคู่ชีพ ปั่นท่องเมืองนครพนมอย่างต่อเนื่อง ตะวันขึ้นริมโขง ยังเป็นเสน่ห์ที่ไม่เก็บภาพ ไม่ได้แล้ว ... น่าอิจฉาคนเมืองนี้ ที่มีเครื่องเล่นออกกำลังกาย อยู่ริมโขง เล่นไป ดูตะวันขึ้นไป สุดยอดเลยครับ

ผมปั่นจักรยานผ่าน วัดมหาธาตุ

ตะวันยังไม่สูงเกิน ซุ้มประตู

อีกมุมหนึ่ง ใน วัดมหาธาตุ ตะวันยังคงอยู่ต่ำ แสงไม่มากนัก

เมืองนครพนม กับเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ส่งมาจากเมืองลาว มักจะเป็นส่วนหนึ่งของภาพ ความคิดของผมตอนนั้น คือ เรื่องราว ของ แมกไม้ รสพระธรรม ดวงตะวัน และเทคโนโลยี่ หากลงตัวเหมาะเจาะ ก็คงจะดีไม่น้อย หากน้ำหนักใดมากเกิน ชีวิตคงขาดความสงบเป็นแน่แท้

ผมยังคงลุ่มหลง กับตะวันขึ้น ที่วัดมหาธาตุ วันที่อากาศหนาว เพียงพอที่ผมจะใช้ ผ้าพันคอสวย ๆ พริ้ว ๆ ดูเท่ห์ ๆ ได้ครับ

ระหว่างที่เก็บภาพตะวันขึ้นจนเริ่มเบื่อ หันไปทางซ้ายมือของดวงอาทิตย์ ก็เจอตึกนี้เลยครับ ... หอสมุดโชติ-เสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี ... ผมคงไม่ค้นประวัติมาพูดตรงนี้นะครับ แต่เห็นอาคารนี้แล้ว เข้าใจว่า คงเป็นอาคารรุ่นเดียว สมัยเดียว กับอีกหลาย ๆ อาคารรุ่นเก่า ของเมืองนครพนม

อีกมุมสวย ๆ ของ ... หอสมุดโชติ-เสนาะจิตร สุวรรณโพธิ์ศรี

ออกจากวัดมหาธาตุ ผมก็มาตามถนนเลียงโขง เป้าหมายคือ ตลาดเช้า (ซึ่งคงจะแยกเขียนออกต่างหาก) ระหว่างทาง ก็เก็บ บ้านไม้ เรือนเก่า ไปพลาง ๆ ... และนี่ ก็เป็นร้านอาหาร ที่เมื่อวานผ่านมา แต่ปิดอยู่ ... ตัวร้านเก่า ๆ แต่ได้ยินมาว่า คนทำ เป็นคนรุ่นใหม่ ของเมืองนี้

อีกมุมของ ร้านเรือนรับรอง ... การนำเรือนเก่า มาเล่าเรื่องใหม่ เท่าที่เห็น ลูกค้าที่มาใช้บริการ ดูจะเป็นคนรุ่นใหม่กันทั้งนั้น

ก่อนหน้า มาถึงตรงนี้ ผมได้แวะไปตลาดเช้าของจังหวัดมา แต่ตลาดเช้าของที่นี่ ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิดไว้ ก็เลยเก็บภาพแบบผ่าน ๆ หลังจากนั้น ก็ย้อนกลับมาทาง ถนนเลียบโขง ระหว่างทาง ก็เก็บภาพไปเรื่อยเปื่อย

สัญญลักษณ์ของเมืองเก่า คงจะไม่พ้นแบบนี้เป็นแน่ แม้แต่ใน กทม.ย่านชุมชนเก่า ก็ยังคงเห็นได้ทั่วไป เคยถามผู้รู้ (ไม่รู้ว่ารู้จริงหรือเปล่า) ว่าที่เห็นสายรก ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสายโทรศัพท์ คือ เขาเดินสายใหม่แล้ว แต่ไม่ได้เก็บสายเก่าออก ใครรู้จริง ช่วยบอกมาหน่อยสิครับ

ผมจอดจักรยาน ตรงสี่แยกอะไรไม่รู้ สักแยกหนึ่ง แล้วก็ไล่เก็บภาพไปเรื่อย ๆ แบบเกียจคร้าน ... บ้านนี้ ก็คล้าย ๆ กับแถวบ้านผม ซึ่งเป็นตึกแถว แต่คนในบ้านรักต้นไม้ ก็เลยมาปลูกต้นไม้ ใส่กระถาง ไว้หน้าบ้าน

อีกมุมหนึ่ง ของสี่แยก เป็นบ้านกลางเก่า กลางใหม่ เปิดเป็น ร้านกาแฟ กึ่ง ๆ สมัยใหม่ หน้าตาลูกค้าที่นั่งอยู่ ท่าทางคงจะเป็นนักท่องเที่ยว ต่างชาติ คล้าย ๆ ฝรั่ง

จากมุมเดิม ที่ผมนั่ง ผมก็ส่องเลนส์ไปอีกนิด ก็เห็น ต.เป็ดย่าง ท่าทาง คงจะเป็นร้านเก่าของคนเมืองนครพนม ท่าทางน่าจะอร่อย แต่ผมก็ไม่ได้แวะกิน

ทางเท้าที่สงบ ๆ ทำให้ผมนั่งได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องกลัวใครจะเดินมาเหยียบ ... ค่อย ๆ แพนกล้อง อะไรที่เข้ามาในระยะโฟกัส เสร็จหมด ... คุณพี่ ที่กำลัง ตากเนื้อแดดเดียว ก็อยู่ในกลุ่มนั้นด้วย

นั่งที่สี่แยกอะไรไม่รู้ตรงนั้น จนหมดมุมกล้องแล้ว ก็ปั่นจักรยานมาที่หอนาฬิกาประวัติศาสตร์ มาละเลียดหามุมกล้องเก็บไปเรื่อย ๆ เพราะดูเหมือนกับว่า บ้านเก่า เรือนแก่ ของนครพนม จะอยู่รอบ ๆ แถวนี้ มากกว่าที่อื่น ๆ

ในภาพ เป็น อาคารเรือนแถว ที่รอบ ๆ ได้รื้อไปบางส่วนแล้ว หลังนี้ คงจะอยู่ได้ ไม่นานแน่ ๆ

ร้านมณีพรรณ เป็นบ้าน ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของถนน ประตูบานเฟี้ยม เดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยได้เห็นแล้ว แต่ที่นครพนม ยังมีให้เห็นทั่วไปครับ

ผมนั่งซุกตัว อยู่ใต้หลังคาของ เรือนแถวไม้ชั้นเดียว ด้านริมฝั่งโขง กวาดตาค่อย ๆ มองไปทีละช๊อต ๆ ๆ เสียดายความจำกัดของเลนส์ บางที ทำให้ไม่ได้ภาพอย่างที่สมองคิด ก็เลย พยายามคิด เท่าที่เลนส์จะสร้างภาพได้

ลองหยิบ CPL มาใส่เลนส์ดู เปลี่ยนบรรยากาศของภาพบ้าง

ห้องแถวชั้นเดียว ด้านริมโขง ก็เหมือน ๆ กับห้องแถวในยุคสมัยเดียวกัน คือ ทางเดินเท้าจะอยู่ภายใต้หลังคา ประตูไม้บานเพี้ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบเกร็ดเล็ก ๆ แต่ช่วงหลัง มีการเปลี่ยนมาเป็นสังกะสีแทน

ผมย้ายตัวเอง มานั่งในบริเวณ ศาลาอันเป็นที่ตั้งของ หอนาฬกาประวัติศาสตร์ แล้วเก็บภาพอาคารเก่าด้านใต้ของหอนาฬิกา ยังดูแข็งแรง แต่วันที่ถ่ายภาพ ได้ปิดร้าง

อีกมุมหนึ่ง ของอาคารด้านใต้ของหอนาฬิกา เป็นจุดบรรจบของ ถนน 4 สาย ด้วยกัน

ด้านตะวันตกของ ศาลาที่พัก บริเวณหอนาฬิกา ลึกเข้าไปในซอยแยกนิดหน่อย จะมีโรงแรมแนวร่วมสมัย

มาได้ครึ่งทางแล้ว ตามไปดูกันต่อ คลิกลิ้งค์ ข้างล่างเลยครับ


บ้านไม้ เรือนเก่า ริมฝั่งโขง (ตอนที่ 2/2) .. นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา