ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
บ้านไม้ เรือนเก่า ริมฝั่งโขง (ตอน 2/2)
นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เป็นตอนต่อจาก บ้านไม้ เรือนเก่า ริมฝั่งโขง (ตอนที่ 1/2) ติดตามต่อได้เลยครับ

ร้านค้า บริเวณรอบ ๆ หอนาฬิกา แม้จะไม่ใช่บ้านไม้ เรือนเก่า แต่ป้ายร้าน ก็แสดงให้เห็นถึง อายุอานามของร้าน คงพอ ๆ กับคนถ่ายรูปแน่ ๆ

ผมยังคงวนเวียน ถ่ายรูป บ้านเก่า รอบ ๆ หอนาฬิกา อย่างมีความสุข คนผ่านไปผ่านมา ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจเท่าไรนัก อาจจะเป็นเพราะ มุมนี้ เป็นมุมที่นักท่องเที่ยวชอบมาถ่ายรูปเป็นประจำก็ได้

ผมข้ามถนนไป อีกฟากหนึ่งของถนน แล้วเล็งกล้อง มาทางด้าน เรือนแถว ฝั่งน้ำโขง

ลองยิงกล้องตรง ๆ ทื่อ ๆ กับหอนาฬิกาประวัติศาสตร์ของเมืองนครพนมดูบ้าง ท้องฟ้าวันที่อากาศเย็นฉ่ำ โปร่งใสกริ๊ง ๆ เลย

เล็งกล้องมาทางเรือนแถว ริมฝั่งโขง ดูจะเป็น เรือนเก่า ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทีเดียวครับ หลังคา ยังคงมุงด้วยกระเบื้องเก่า แต่บานประตู ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

ผมย้ายตัวเองมาอยู่ที่บ้านฝั่งตรงข้ามของอาคารชั้นเดียว คุณป้าในบ้านฝั่งโน้น ตะโกนถามมายังคุณลุงบ้านที่ผมอยู่ ว่าผมมายืนทำอะไร ลับ ๆ ล่อ ๆ ... คุณลุง ก็ตะโกนตอบไปว่า เขามาถ่ายรูปเฉย ๆ ไม่มีอะไรหรอก

รูปนี้ อยากโชว์กระเบื้องหลังคา ซึ่งถ้าต้องเปลี่ยน คงจะหาได้ยาก คงต้องเปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสีแทน แต่ถ้าหน่วยงาน ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว หรือหน่วยงานท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญ ยื่นมือ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ของการเก็บรักษา เรื่องราวของประวัติศาสตร์ชุมชน ก็อาจจะทำให้ ลมหายใจของเรื่องราวชุมชน ยืนยาวต่อไป ให้ลูกหลาน ได้ดู และเรียนรู้ต่อไป

ผมจอดจักรยานคู่ชีพ ไว้ที่หน้าบ้านหลังหนึ่ง แล้วตัวผมเอง ก็เดินไปรอบ ๆ บริเวณนั้น เกือบชั่วโมง ที่มองอย่างพิถีพิถัน หามุมกล้อง ที่จะสื่อ ถึงเรื่อง บ้านเก่า เมืองนครพนม ออกมา

มุมนี้ คงจะชินตาแล้ว กับภาพ เรื่องราวของเมืองนครพนม จริง ๆ แล้ว แค่ตรงนี้ เราก็ได้เห็นชีวิตในบ้านเก่า ที่ได้รื้อถอนไปบ้าง บางส่วนทีเดียว

จากหอนาฬิกา ผมปั่นจักรยานไปตามถนนเลียบโขง มาเจอเรือนแถวริมถนน แต่เรือนแถวนี้ จะไม่ได้อยู่ฟากน้ำโขง ลักษณะของอาคารคล้าย ๆ กัน แต่ดูจะสร้างช่วงหลัง ตัวอาคารดูจะใหญ่กว่า แม้ว่า หลังคาจะมุงด้วยสังกะสีใหม่เอี่ยม คงเปลี่ยนมาได้ไม่นานนี้ แต่แปที่ถี่ บ่งบอกถึง ก่อนหน้าบ้านนี้ คง มุงด้วยกระเบื้องเกร็ดเล็ก ๆ เป็นแน่ ๆ

หน้าบ้าน เป็นทางเดิน ที่มีหลังคาคลุมตลอด ถ้าเป็นเรือนแถวที่ยาวต่อเนื่อง คนเดินสามารถเดินได้ตลอด โดยไม่ตากแดด หรือโดนฝน เดิมบานประตูคงเป็นไม้แบบบานเฟี้ยม แต่เนื่องจากบ้านหลังนี้ ได้ปรับเป็นโกดังเก็บของ จึงได้เปลี่ยนเป็นบานเหล็กแทน

ประตูไม้เป็นบานเพี้ยม ในหลังติด ๆ กับบ้านหลังก่อนหน้านี้ แต่คงเป็นส่วนพักอาศัย จึงยังคงบานไม้ไว้ และมี โต๊ะหินตั้งอยู่หน้าบ้าน ไว้นั่งเล่นอีกด้วย

ไหน ๆ ก็มาดูบ้านเก่า ผมก็เลยแหงนหน้ามองหลังคา เก็บภาพ แป ที่เป็นไม้ ที่ดูแข็งแรงมาก ไม่มีปลวก ไม่ผุ แถมด้วย ลูกถ้วยไฟฟ้าแบบเก่า ที้เลิกใช้แล้ว แต่ยังคงอยู่ที่เดิม เหมือนเดิม

ไฟฟ้าแรงขึ้น ลูกถ้วยไฟฟ้า ที่รองรับสายไฟที่ใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น มาแทนที่ ลูกถ้วยเก่า ซึ่งยังติดอยู่ ไม่ได้รื้อถอนออกไป

ระหว่างที่ผมยืนถ่ายรูป คุณพี่เจ้าของบ้าน คงเห็นผมมายืนถ่ายรูปนานแล้ว ก็เลยเดินออกมาดู ผมก็เลยได้สอบถาม เกี่ยวกับหลังคา ได้ความว่า เมื่อสามปีที่แล้ว มีพายุพัดกระเบื้องปลิวไปกว่าครึ่ง ก็เลยถือโอกาส เปลี่ยนเป็นหลังคาสังกะสี เสียเลย เพราะติดตั้งง่ายกว่า บำรุงรักษาก็ง่ายกว่าด้วย

จากนั้น ผมก็ขี่จักรยานต่อ ไปตามถนนเรียบโขง เริ่มเข้าเขต บ้านพักข้าราชการ มีหลายหลัง หลายหน่วยงาน ที่เป็นบ้านเก่า เลิกใช้งานแล้ว คงจะรอบูรณะ เพื่อใช้งานอื่น ๆ ต่อไป

นี่ก็เป็นบ้านพักข้าราชการหลังเก่า ของหน่วยงานอะไร จำไม่ได้แล้ว

ระหว่างทาง เจอ ศาลเจ้าพ่อคำแดง ไม่มีคนอยู่แถวนั้น เลยไม่รู้จะซักประวัติจากใคร

พ้นเขตบ้านพักข้าราชการ จะมีบ้านเก่า อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ลักษณะของอาคาร น่าจะปลูกสร้างในยุคเดียวกับอาคารในชุดแรก คือ มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว แปถี่ ๆ เพื่อรองรับกระเบื้องเกร็ด แต่ตอนตอนนี้ เปลี่ยนเป็นสังกะสีแล้ว

ระหว่างที่ผมยืนถ่ายรูปอยู่หน้าบ้าน คุณลุงเจ้าของบ้าน ได้โผล่หน้ามาดู แล้วก็เลยได้คุยกันยาวเลย เดิมคุณลุงเปิดเป็นร้านขายของชำ แต่หลังจากที่ลูก ๆ ทำงานแล้ว ก็เลยเลิกขาย แล้วก็ทะยอยขายอุปกรณ์ต่าง ๆ จนบ้านโล่ง ๆ อย่างที่เห็น

คุณลุง ได้กรุณาบอกว่า ถ่ายรูปในบ้านก็ได้นะ แต่ผมเกรงใจ เลยขอถ่ายแต่ด้านนอกก็พอ คุณลุงหายหน้าไปสักพัก ก็นำภาพถ่ายมาให้ดู บอกว่า ลูกชายไปได้มา เพิ่งส่งมาไม่นานนี้เอง คงเป็นบ้านช่วงที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ

ประตูไม้บานเฟี้ยม แข็งแรง อาคารแม้จะสร้างแบบหยาบ ๆ แต่ก็ดูแข็งแรง

ทางเดินหน้าอาคาร อยู่ใต้หลังคา ส่วน ประตูโค้ง ด้านในสุดของภาพ เป็นอาคารที่มาต่อเติมภายหลัง

บ้านเก่า น่าจะสร้างในเวลาใกล้เคียงกัน ด้วยรูปทรงที่ใกล้เคียง แต่หลังนี้ มีรายละเอียดมากกว่า ปราณีตกว่า เป็นอาคารสองชั้น ดูน่าจะเป็นผู้มีฐานะการเงินที่ดีมากทีเดียว และจากคำบอกเล่า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงเท็จประการใด ไม่มีการยืนยัน คือ บ้านหลังนี้ สร้างไว้ให้ภรรยาหลวง ส่วน เรือนแถวก่อนหน้านั้น สร้างไว้ให้ภรรยาน้อย ... ข้อมูลนี้ ไม่ยืนยันนะครับ

อีกมุมหนึ่ง ของ บ้านเก่า ที่เมืองนครพนม ... จากจุดนี้แล้ว ผมก็ไปยังพิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าฯ (หลังเก่า) ต่อด้วยวัดนักบุญอันนา หนองแสง แล้วปั่นจักรยานไปนอกเมือง ถึงบ้านลุงโฮ ก่อนจะย้อนกลับมา ถนนคนเดิน เมื่อตะวันลับฟ้า ... ขอจบ บ้านไม้ เรือนเก่า ริมฝั่งโขง แค่นี้ครับ


บ้านไม้ เรือนเก่า ริมฝั่งโขง (ตอนที่ 1/2) .. นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา