ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
เลาะเลียบ ตลาดบน ชื่นชม บ้านไม้ เรือนเก่า เมืองโพธาราม ตอนที่ 1/3 (ตอนแรก)
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เป็นรีวิวต่อเนื่อง จากที่ผมเดินเท้าถ่ายรูป ในตลาดเช้า เมืองโพธาราม หลังจากแวะกินขนมจีน เจ้าอร่อยกลางตลาดแล้ว ผมก็ลุยต่อ ติดตามได้ครับ

... แม้จะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ในลายแทงเที่ยวเมืองโพธาราม ที่ผมได้มาจากโลกไซเบอร์ ก็ได้แบ่งเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ เพื่อให้ง่าย ต่อการที่จะเดินเที่ยว ออกเป็นสามส่วนด้วยกัน คือ ตลาดบน ตลาดกลาง และตลาดล่าง

ผมมาถึงเมืองโพธารามแต่เช้า ก็มุ่งสู่ตลาดเช้าทันที ตลาดเช้านั้น อยู่ในโซนตลาดกลาง ผมเดินลุยถ่ายรูป เป็นที่เพลิดเพลินเจริญใจ จนตลาดวาย ก็ขยับตัว มุ่งสู่ ตลาดบนตามลายแทงต่อไป ในช่วงนี้ อาจจะไม่สนุกสนานมากนัก เพราะ การถ่ายรูป เรือนไม้ บ้านเก่า อาราม ที่พัก ไม่สามารถที่จะพูดคุย โต้ตอบได้ เหมือนอย่างตลาดเช้า ที่เต็มไปด้วยผู้คน

ผมค่อย ๆ เลาะเลียบ ละเลียด ดูโน่น นี่ นั่น มองล่าง มองบน หันหน้า หันหลัง นั่งริมถนน ไปเรื่อย พอเจอใคร ที่พอคุยได้ ก็คุยบ้าง เรื่องราวของเมือง ต้องมาจากคน ไม่ใช่ก้อนอิฐ ท่อนไม้ ที่ไร้ชีวิต จริงไหมครับ

แดดเริ่มจัด อากาศเริ่มร้อน เพราะเป็นช่วงความกดอากาศต่ำพาดผ่าน โพธาราม พอดี ... แสงอาจไม่สวย เพราะฝนเพิ่งจาง ฝุ่นในอากาศไม่ค่อยจะมี แต่ผมก็สนุกมาก กับการเดินเท้า ย่ำไปรอบเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ ... ตามผมมานะครับ ไม่ต้องกลัวหลง

พอพ้นตลาดเช้า มุ่งขึ้นเหนือ ทางซ้ายลงแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งครั้งหนึ่ง คงเป็นหาดทราย ที่งดงาม (ดูจากรูปถ่าย จากหลาย ๆ บ้าน ที่ผมได้แวะพูดคุย และเจ้าของบ้านได้นำมาให้ชม) แต่วันนี้ หาดนั้น กลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว

เมื่อหันไปทางขวา วัดโพธาราม ตั้งตะหง่าน ถนนสายนี้ มีชื่อว่า ถนนท่าวัด ... ชื่อได้บ่งบอกชัดเจน ว่า แต่ก่อน ที่ฝั่งน้ำแม่กลอง คือ ท่าขึ้นของ ลงของ ... ของเหล่านั้น อาจจะมาจากท้ายน้ำ ซึ่งก็คงเป็นของจากในเมือง หรือมาจากต้นน้ำ ซึ่งคงจะเป็นของที่มาจากชุมชน

อีกมุมหนึ่ง ของวัดโพธาราม ... ผมว่า เดี๋ยวนี้ เวลาถ่ายรูป เพื่อนำมาโชว์เพื่อน ๆ นั้น ผมมีความลังเลว่า จะถ่ายแนวนอน หรือแนวตั้งดี เพราะถ้าเพื่อน ๆ ดูจาก PC ภาพแนวนอน ก็จะดูเต็มตา แต่ถ้าดูจากมือถือ หรือแทปเล็ต น้อยคนมาก ที่จะหมุนตั้งบ้าง นอนบ้าง ... หรือเพื่อน ๆ มีความเห็นอย่างไรครับ

ผมน่าจะเป็นพวกย้ำคิดย้ำทำ เห็นจักรยาน ที่ไหน เป็นต้องเก็บภาพ ... ที่โพธาราม ผมแอบชื่นชม เรื่องการใช้จักรยาน หลาย ๆ บ้าน ผมเห็นมีจักรยานจอดอยู่ และบนท้องถนน ผมเห็นจักรยานผ่านหน้าผมไป ตลอดเวลา

บ้านนี้ มีทั้งจักรยาน และ รถไส

พ้นแยกถนนท่าวัดมาหน่อยนึง ก็พบ กับ เรือนแถวไม้ สองชั้น อายุคงมากกว่าคนถ่ายรูป ... แม่ค้า ที่ ขายของที่ตลาดเช้า เข็นของกลับบ้าน หลังจากตลาดวายแล้ว

แล้ววันนี้ ก็ผ่านไปอีกวันหนึ่ง ... เมืองเล็ก ๆ ที่ชีวิต ดำเนินไป รวดเร็วเท่ากับ ขาสองข้างพาเดิน ไม่ต้องวิ่งขึ้นบันไดเลื่อน เพื่อกระโดดขึ้นรถไฟฟ้า แต่ก็ยังไปทำงานไม่ทัน

หลาย ๆ เมืองที่ผม ได้ผ่านมา มีความคล้ายคลึงกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ สายระโยงระยาง แต่ก็ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับ หนังเรื่องหนึ่ง ที่ผมเคยดู หนังเรื่องนั้น พูดถึง หนุ่มอเมริกันคนหนึ่ง ที่ถูกส่งให้ไปตั้ง call center ในเมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในอินเดีย

สิ่งหนึ่ง ที่ผู้คนจะต้องสูญเสีย เมื่อมีผู้มาเยือนมากมาย คือ ความเป็นส่วนตัว เพราะ ผู้มาเยือน มักจะซอกแซก เห็นอะไร ก็ดูจะตื่นตา ตื่นใจ เก็บภาพ แชร์เรื่อง เป็นที่สนุกสนาน ... เหมือนอย่างบ้านหลังนี้ ผมว่าสวยดี ก็เลยแชร์ต่อ

จักรยาน อีกแล้ว

ถ่ายรูป บ้านเรือน จะว่าไป ก็มีความสุขไม่น้อย ผมนั่งบนทางเท้า ฝั่งแดดร่ม นั่งมอง เหมือนจะค้นหา อะไรสักอย่าง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าค้นอะไร ทำตัว แบบ อาร์ตติส

ผมไม่ใช่สถาปนิก ไม่ใช่นักโบราณคดี ของเก่าก็ไม่ได้สะสม แต่การได้ถ่ายรูป อะไร ที่เหมือนมีที่มา ที่ไป ก็เพลิดเพลินดีครับ แม้ว่า จะไม่รู้ว่า มายังไง จะไปยังไงต่อ ก็ตาม

เหมือนเป็นยุคสมัย ที่ ผู้คน หารากเง่าของตัวเอง ใครไม่มีตำนาน ก็สร้างตำนานขึ้นมา ... ประวัติศาสตร์เขียนกันได้ พยายามหา หลักฐานมาประกอบให้ดีก็แล้วกัน จะได้ดูดี ... ทำไม ผมถึงชอบที่จะถ่ายรูป เรื่องราวเหล่านี้ ... อาจะเป็นเพราะ ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปตัดผม ใต้ต้นโพธิ์ ลมโชย ที่อุดรธานี จำได้ดี ว่ามีโต๊ะไม้ตั้งอยู่ กระจก ก็ช่วยกันถือ ระหว่างช่างและคนตัด ยุคนั้น กล้องถ่ายรูป ไม่สะดวกเหมือนทุกวันนี้ พอเล่าให้ใครฟัง ก็เหมือนโม้ เฮ้ออออ

ไม้ทุกแผ่น ตะปูทุกตัว สายยู บานพับ วงกบ รอยแตก ตาไม้ ราวกับเดินหน้า ออกมาเล่าเรื่อง วิถี เรื่องราว ของโพธาราม จากรุ่น สู่รุ่น เสียงเล่าเซ็งแซ่ ท่ามกลางความเงียบ

เก่าหลุดร่วง รอวันโรยลา ... เทคโนโลยี่มา แทนเรื่องเก่า ที่หายไป ... สีเก่าคร่ำคร่า ตะไคร่เกาะกิน ปูนเสื่อมสิ้น วิ๊ง ๆ ๆ ๆ

เวลาเห็นหน้าต่างที่เปิดอยู่ริมถนน ผมนึกถึงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ที่อ่านมานานแล้ว ชายหนุ่มเดินผ่านหน้าบ้าน ที่หน้าต่างเปิดทุกวัน และ หญิงสาวที่งดงาม ก็นั่งอยู่ที่ตรงหน้าต่างบานนั้น ทุกวัน ... ไมตรีทอดผ่านรอยยิ้ม ความรู้สึกก่อตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จนกระทั่งสุกงอมในที่สุด ... และแล้ว ความจริง ก็ปรากฎ

ใกล้กับ หน้าต่างบานที่เปิด เป็นหน้าต่างบานที่ปิด หากกาลเวลาผ่านมานานเกิน เกินกว่าที่จะปิดบัง จะเรียกว่าอะไรดีครับ ... รอยร้าว แห่งกาลเวลาดีไหมครับ

บ้านริมถนนด้านนี้ อยู่บนถนนที่เลาะเลียบไปริมน้ำแม่กลอง ก่อนหน้า หลังบ้านอยู่ติดฝั่งน้ำ หากวันนี้ ความเจริญไม่เข้าใคร ออกใคร ริมฝั่งน้ำ กลับกลายเป็นฝั่งถนน ... ไม่ว่าคุณจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ ความเจริญ ก็ได้มาเยือนถึงหลังบ้านแล้ว

ในลายแทง ที่ผมได้มาจากโลกไซเบอร์ ได้ปักหมุดบ้านเบื้องหน้าผมว่า ... บ้านพี่ใหญ่ ข้าวต้มปลา มีรูปโปสเตอร์หนังเก่า ... ดังนั้น คนเบื้องหน้า ที่กำลังก้มหน้าก้มตา หั่นหมูบนเขียงไม้ คงไม่ใช่ใครอื่น ต้องเป็น พี่ใหญ่ แน่นอน ... น้องเล็ก ขอคารวะสักจอก

ไม่เพียง เครื่องประดับบนเรือนกายของพี่ใหญ่ ที่ได้บอกถึง วิถีแห่งการดำเนินชีวิต กำแพงบ้าน ก็ยังย้ำอย่างหนักแน่น ว่า พี่ใหญ่ คนนี้ คือใคร อะไร ยังไง

พี่ใหญ่ ไม่ได้ขายแค่ ข้าวต้มปลา อย่างเดียว ... แต่ พรุ่งนี้เช้า มี หลนปลาทู ด้วย

นี่ คงจะเป็นชื่อเป็นทางการ ของ ร้านพี่ใหญ่ข้าวต้มปลา .. ค.คน (ต้องสะกดแบบนี้ เพราะไม่มีตัวอักษรนี้บนแป้นคอม) หน้าวิก ข้าวต้มปลา ... วิก ในที่นี้ คือ โรงภาพยนต์ที่อยู่ข้าง ๆ ร้านของพี่ใหญ่

ภายในร้าน ซึ่งเป็นบ้านพี่ใหญ่ด้วย มีของสะสม ให้คนกินข้าวต้ม ได้ชม ... อร่อยลิ้น และรื่นรมย์ทางสายตา อีกต่างหาก

วิธีป้องกันการสับสน ว่ารูปที่ถ่ายอยู่ที่ไหน ทำได้ง่าย ๆ คือ ถ่ายป้าย ทุกป้ายที่เราเดินผ่าน ... เพื่อน ๆ มีวิธีการอย่างอื่น ที่อยากแนะนำผม บ้างไหมครับ

ผ่านหน้าร้านพี่ใหญ่ แล้วก็วิกหนัง ซึ่งลายแทง ต้องการจะเน้นย้ำ ของการมาเยือนของนักท่องเที่ยว ว่าเป็นจุดที่ควรจะแวะชม ... แต่ดูเหมือน กลิ่นหมูสะเตะ จะเตะจมูก จนต้องเดินมาถ่ายรูปก่อน

วิกครูทวี ที่โพธาราม ผมดูหน้าตาแล้ว น่าจะเป็นโรงหนัง ในยุคเดียวกับ โรงหนังเฉลิมสิน ที่สี่แยกสะพานควาย ตอนเปิดฉายครั้งแรก พี่สาวผม ยังพาไปดูหนัง เรื่อง เงิน เงิน เงิน เลยครับ ... วิกหนังต่างจังหวัด ที่ออกแนวลูกทุ่งมาก ๆ คงจะเป็นที่ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ช่วงที่ผมไปทำงานที่ทุ่งกุลา ค่าดู เหมือนจะเป็น ข้างล่าง 3 บาท ข้างบน 5 บาท เวลาเข้าไปดู ถ้าร้อน ๆ เราก็จะถอดเสื้อดูกัน

ที่ตลาดโพธาราม ไม่มีสามล้อถีบให้บริการแล้ว แต่แถว ๆ บ้านผม กรุงเทพ เหมือนผมเห็นแว้บ ๆ แถวตลาดปากเกร็ด จะยังมีให้บริการอยู่

รูปคุณพ่อคุณแม่ ของคุณพี่ ที่ผมนั่งคุยด้วย ต้องขออภัยด้วยครับ ลืมถามชื่อคุณพี่ คุยกันตั้งนาน ... โปรดสังเกต ผ้านุ่ง สวยมากครับ ผ่านมาไม่กี่ปี วิถีชีวิตที่แสนธรรมดา ก็กลายเป็นตำนาน ให้เล่าขานกันแล้ว

นี่เลยครับ คุณพี่ ที่คุยกันตั้งนาน แต่ผมลืมถามชื่อ .. คุณพี่ ได้เล่าเรื่องราวของโพธาราม ที่น่าสนใจหลายเรื่องทีเดียวครับ

ของเก่า ที่คุณพี่สะสม และได้วางแสดง ให้ คนโพธาราม รุ่นใหม่ ได้รู้จัก

ชื่อถนน บ่งบอกเรื่องราวในอดีต .. ถนนท่านัด .. แต่เดิมที่การเดินทาง ค้าขาย ยังอาศัยสายน้ำแม่กลองเป็นหลัก ไม่ไกลจากตรงนี้ คือ ท่าน้ำอีกท่าหนึ่ง ที่มีนัด หรือติดตลาด นั่นเอง

มองลึกเข้าไปในถนนท่านัด ถนนสายสั้น ๆ มี เรือนแถวไม้ ชั้นเดียว หลังคาสังกะสี ประมาณอายุได้ว่า คงพอ ๆ กับคนถ่ายรูป

อีกมุมหนึ่ง ของเรือนแถวไม้ชั้นเดียว บน ถนนท่านัด

อีกฟากหนึ่ง ของถนนท่านัด เป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวเช่นกัน แต่ดูจะอายุน้อยกว่า ผมนึกถึง ห้องแถวไม้แบบนี้ ใน ตรอกห้านาย สะพานสว่าง หรือปัจจุบัน คือ ถนนสว่าง ซึ่งเป็นถนนแยกจากถนนพระราม 4 ทะลุออกไปยังถนนสี่พระยา

ช่วงนั้น ผมยังเด็ก ๆ อยู่ ผู้คนทำงานอยู่กับบ้าน เช่น ม้วนหลอดกาแฟ (เมื่อก่อนนำกระดาษมาม้วน ยังไม่มีหลอดพลาสติกเหมือนปัจจุบัน) ทำสปริงไม้หนีบผ้า (เมื่อก่อนคนน้อย โรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ค่อยมี ซี่รี่เรื่องคุณหมอหน้าใส ทางไทยพีบีเอส สะท้อนภาพพวกนี้ได้ดีเลย) แล้วก็อีกหลาย ๆ อย่าง

จุดเดียวกัน เปลี่ยนมุมมอง ความรู้สึกก็เปลี่ยนไป

มุมถนนท่านัด

เทคโนโลยี่ .. การขนส่ง .. การสื่อสาร .. บ้านพักอาศัย .. บอกอะไรกับเราบ้าง

ปิดท้ายตอนนี้ เมื่อเรามา สุดถนน ท่านัด ที่ ร้านไทยสเถียร แห่งนี้ .. ตลาดบน ยังมีอีกหลายเรื่อง ให้ผมได้เดินชม .. ตามผมไปดูต่อนะครับ กับ เลาะเลียบตลาดบน ชื่นชมบ้านไม้เรือนเก่า เมืองโพธาราม ตอนที่ 2/3


เลาะเลียบ ตลาดบน ชื่นชม บ้านไม้ เรือนเก่า เมืองโพธาราม ตอนที่ 2/3 คลิก คลิก

เลาะเลียบ ตลาดบน ชื่นชม บ้านไม้ เรือนเก่า เมืองโพธาราม ตอนที่ 3/3 (ตอนจบ) คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา