ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
เช้าวันหนึ่ง บนถนนตลาดเก่า (ตอนที่ 2/2)
นครลำปาง งดงามกว่าที่คิด
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เป็นตอนต่อจาก ตอนที่ 1 ของการขี่จักรยานเที่ยว บนถนนตลาดเก่า นครลำปาง

หอศิลป์ลำปาง ริมถนนตลาดเก่า ประตูเปิดแง้ม ๆ เพราะยังไม่ได้เวลาเปิดให้เข้าชม ผมก็เลยชื่นชมจากภายนอกอยู่พักหนึ่ง แต่ไหน ๆ มาแล้ว ก็เลย ค่อย ๆ ย่องเข้าไปในประตู ที่เปิดแง้มนั้น

ภายในหอศิลป์ลำปาง มีพี่ ๆ กำลังนั่งทำ โคมล้านนา ซึ่งเป็นงานที่ทำมือล้วน ๆ ตั้งแต่เหลาไม่ไผ่ นำมาผูกขึ้นโครง แปะลวดลาย กว่าจะได้แต่ละโคม ใช้เวลาไม่น้อยทีเดียว

ก่อนที่จะเป็นโคมสวย ๆ โครงภายใน ทำมือล้วน ๆ

บ้านหลังใหญ่ บนถนนตลาดเก่า ครั้งแรก ผมก็ถ่ายรูปผ่าน ๆ ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เพราะคิดว่า น่าจะเป็นบ้านที่สร้างเมื่อไม่นานนี้

แต่หลังจากที่ได้คุยกับพี่คนหนึ่ง ระหว่างที่ผมด้อม ๆ มอง ๆ ยืนถ่ายรูป พี่เขาก็เล่าให้ฟัง (พี่คนนี้ เป็นคนเฝ้าบ้าน อีกหลังหนึ่ง เยื้อง ๆ กับบ้านหลังนี้) ว่า บ้านหลังนี้ สร้างในยุคการทำไม้รุ่งเรือง เจ้าของบ้านเป็นชาวเมียนม่า คนที่อยู่ในบ้าน เป็นคนรุ่นหลานแล้ว

วัดเกาะวาลุการาม เป็นหมุดที่ปักไว้จุดต่อไป บนถนนตลาดเก่า เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมน้ำวัง พื้นที่วัดค่อนข้างต่ำจากตลิ่งปกติ คงทำให้ น้ำท่วมได้ ในช่วงน้ำหลาก

ซุ้มประตู + พระธาตุ ภายในวัดเกาะ งานปูนปั้น บนซุ้มประตู ดูจะเป็นงานใหม่ บนพระธาตุ จะเห็นรอกติดอยู่ ครั้งแรก ผมก็ไม่เข้าใจ ว่ามีไว้ทำไม แต่หลังจากที่ ขี่จักรยานผ่านวัดในลำปาง หลาย ๆ วัด จึงทำให้ทราบว่า รอกที่ว่านี้ มีไว้สำหรับ พิธีสรงน้ำพระธาตุ

ผมสับสนมาก กับอาคารนี้ เพราะป้ายไวนิล ที่ติดไว้ เขียนว่า ขอเชิญบริจาคทรัพย์เพื่อบูรณะ ศาลาการเปรียญ แต่ค้นในเน็ต เขาบอกว่า เป็นวิหารไม้

และข้อมูลจากเน็ต ได้พูดถึงว่า อาคารนี้ แนวสถาปัตยกรรมออกแนวภาคกลาง มากกว่า ล้านนา ทำให้ผมนึก ถึงศาลาการเปรียญเก่า ๆ ตามวัดในจังหวัดนนทบุรี ที่ผมเคยเห็นมา ก็ออกแนวนี้

งานปูนปั้น ที่ระเบียงอาคาร ดูไม่เหมือนงานศิลปล้านนา กับหลาย ๆ วัด ที่ผมผ่านไป ตลอดช่วง 4 วัน ที่อยู่ที่ลำปาง และจากข้อมูลที่ค้นได้ บอกว่า คล้าย ๆ กับระเบียงตามวัดในจังหวัดเพชรบุรี

ระบบระบายอากาศ ของอาคารนี้ ดูซับซ้อนมากครับ คือ ด้านล่าง เป็นบานเลื่อน เปิดปิดได้ ด้านบน เป็นหน้าต่าง ที่ติดบานพับ สามารถเปิดอ้า ซ้ายขวา รับลม รับแสงได้เต็มที่ แล้วบนหน้าต่างนี้ ยังเป็นบานเกร็ด ที่สามารถเปิดแบบค้ำยันได้อีก

ทำให้ผมนึกถึง สภาพดินฟ้าอากาศที่ลำปาง คงจะมีความแปรปรวนสูง หน้าหนาวลมแรง ก็ต้องปิดกันทุกช่อง หน้าร้อนคงจะร้อนมาก ก็ต้องเปิดรับลมกันเต็มที่

งานปูนปั้น ที่อาคาร พระพุทธบาทจำลอง ภายในบริเวณวัด

พระพุทธบาทจำลอง ภายในวัด

ผมเห็นกระดาน ลง ค่าใช้จ่ายของวัด ติดอยู่หน้าโบลถ์ รู้สึกทึ่งมาก ใน 2 เรื่อง คือ เรื่องความโปร่งใส มีการลงรายการละเอียดมาก อีกเรื่อง คือ ค่าของเงิน ในยุคนั้น ค่าเงินบาทแข็งมาก

โบลถ์หน้าตาแปลก แตกต่าง จากวัดทั่ว ๆ ในลำปาง ช่างคงไม่ใช่คนล้านนาแน่ ๆ ผมไปอ่านเจอในเน็ต บอกว่า เหมือนวัดทางปักษ์ใต้ ไม่รู้ว่าเท็จจริงประการใด เพราะไม่เคยไปเที่ยววัด แถวปักษ์ใต้สักที เสียดายแต่ว่า ไม่ได้เข้าไปภายใน ซึ่งมีคนบอกว่า มีงานเขียนบนผนัง ที่แปลกตาอีกเช่นกัน

แหงนหน้าขึ้นไป เห็นฟ้าเริ่มเปิด รู้สึกดีใจมากครับ เพราะเกือบ 48 ชั่วโมงที่มาลำปาง ฟ้าขมุกขมัวตลอด แล้วยังมี งานปูนปั้น สีขาว ตัดฉับ กับฟ้า สีฟ้า มีเมฆระบายราวกับสีน้ำที่ปัดด้วยภู่กัน บนกระดาษที่ชื้นน้ำ

งานปูนปั้น ด้านหน้าของอุโบสถ วัดเกาะ มี สัตว์ในความเชื่อ ที่ว่าแปลงร่างมาจากเทวดาทั้งหลายทั้งปวง เพื่อมาร่วมงานบุญ

ออกจากวัดเกาะ ผมก็ยังลัดเลาะไปตามถนนสายสั้น ๆ แต่มากเรื่องราว อย่างถนนตลาดเก่า ระหว่างที่ผมเก้ ๆ กัง ๆ ยืนถ่ายรูปเรือนไม้เก่า อยู่หน้าประตูบ้านหลังนี้ ก็มีพี่ผู้ชาย ขี่จักรยานจะเข้าบ้าน แล้วก็บอกผมว่า เข้าไปถ่ายรูปข้างในเลยก็ได้ .. ดีเลยครับ

พี่เขาเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นเพียงคนเฝ้าบ้าน เจ้าของบ้านอยู่ที่เมียนม่า นาน ๆ ทีจะมาสักครั้ง จากคำบอกเล่าของพี่เขา ทำให้ผมเลิกสนใจเรือนไม้ ที่เล็ง ๆ ไว้ เพราะเรือนไม้เพิ่งจะมาสร้างภายหลัง ตัวตึกในภาพ เป็นเรือนที่สร้างตั้งแต่แรก และสร้างมา ตั้งแต่ ยุคการค้าไม้รุ่งเรือง ผมขี้เกียจเดาว่า เป็นปีไหน เดี๋ยวแยะมาก จะกลายเป็นตำราประวัติศาสตร์ แทนที่จะเป็นเรื่องท่องเที่ยว

สภาพบ้านที่ไม่มีเจ้าของอยู่ ออกจะทรุดโทรม แต่ก็ยังมีร่องรอยหรูหรา ในยุคเฟื่องฟู ด้านนี้ เป็นระเบียงเชื่อม ระหว่างเรือนใหญ่ กับเรือนเล็ก ด้านหลัง ซึ่งอาจจะเป็นที่ตั้งของครัวไฟ หรือ ที่พักของบริวาร ก็ได้

พี่ชายคนเฝ้าบ้าน บอกว่า ขึ้นไปดูข้างบนก็ได้ แต่ผมเกรงใจ เลยขอดูรอบ ๆ บ้านก็พอ .. หน้าบ้าน จะอยู่ด้านซ้ายมือในภาพ หันหน้าออกถนนทิพย์ช้าง ด้านหลังบ้าน อยู่ทางขวามือของภาพ ออกไปสู่ถนนตลาดเก่า

จากสภาพบ้าน จะตั้งอยู่ในระดับที่สูงเหนือกว่าระดับน้ำหลากปกติ น้ำเคยท่วมสูงถึงใต้ท้องคานของบ้านทีเดียวครับ นั่นหมายถึง บ้านเรือนสองฝากของถนนตลาดเก่าท่วมหมด

ด้านหลังของเรือนใหญ่ เป็นเรือนที่แข็งแรง ผมเคยเห็นภาพในหนังสือ เกี่ยวกับ กษัตริย์องค์สุดท้ายของเมียนม่า จะมีอาคารรูปทางแบบนี้ ให้เห็นในหลาย ๆ ภาพเลยครับ

ผมไม่ค่อยจิบกาแฟสด ในร้านหรู สักเท่าไร เหตุผล 2 อย่างด้วยกัน อย่างแรก คือ เปลืองตังส์ และอย่างหลังคือ เมื่อจิบแล้ว ผมรู้สึกเมากาแฟ ทุกครั้ง

แต่ถ้าเห็น ร้านกาแฟสวย ๆ ผมก็จะอดใจไม่ได้ ที่จะเข้าไปถ่ายรูป เพราะคนขายกาแฟ มักจะเป็นคนชอบอะไรที่สวย ๆ งาม ๆ .. ร้านนี้ตั้งอยู่ต้น ๆ ของถนนตลาดเก่า ต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่ง ที่จำชื่อไม่ได้ แต่คนในร้านทุกคนน่ารักมาก ที่ให้ผม ถ่ายรูปมุมโน้น มุมนี้ โดยที่ไม่ได้สั่งอะไรกินเลย

ร้านนี้ จำชื่อได้ เพราะป้ายร้านสวยดีครับ .. ชิตากาแฟ แอนด์ เกสเฮ้าส์ .. อยู่ริมถนนตลาดเก่า พักที่นี่ ในคืนวันที่มีจัดถนนคนเดิน สะดวกเลยครับ เพราะอยู่หน้าที่พักนั่นเอง

อาคารเก่า ริมถนนตลาดเก่า ช่างมีความละเอียดในงานมาก แม้ว่าจะเป็นเพียงอาคารพาณิชย์ .. ตอนผมเด็ก ๆ เหมือนจะเห็นลวดลายเหล่านี้ ในกรุงเทพ ในหลาย ๆ ถนน แต่เพราะช่วงหนึ่ง เราไม่เห็นคุณค่า ในสิ่งที่เรามี เราจึงทุบทิ้ง เหมือนที่ผมเคยได้ยินเรื่องฮา ๆ ที่ฮาไม่ค่อยออก เมื่อชาวบ้านเคยเล่าให้ฟังระหว่างไปดูกู่ต่าง ๆ ในทุ่งกุลา ว่า เมื่อก่อน พวกเขาเอาศิลาแลง ที่หล่นเกลื่อนอยู่ทั่วไป ทุบเป็นลูกรังถนนถนนเข้าบ้าน

มุมสวย ๆ ของอาคารเก่า ริมถนนตลาดเก่า .. ช่องลมเหนือประตูบานเฟี้ยม ที่เป็น ไม้แกะสลัก แม้จะไม่ปราณีตมากนัก แต่เชื่อว่า เศรษฐีบางท่าน อาจจะเล็งเอาไว้ เอาไปประดับ อาคารของท่าน เพื่อบอกว่า ท่านรักในศิลปะชุมชนมากเพียงใด ไม่เชื่อ ลองไปดูที่น่านสิครับ

ผมเป็นคนใฝ่สูง เลยมองไปถึงหลังคาตึก

เจ้าของอาคาร น่าจะเกิดปีชวด และอาจจะมีความทะเยอทะยาน ที่จะให้โลกทั้งโลกอยู่ใต้อุ้งเท้าของท่าน ก็เป็นได้ (ขออภัย ไม่มีเจตนาจะหลบลู่ เพียงแต่ตีความไปตามภาพครับ)

และจากตัวเลขที่ระบุไว้ 1913 แสดงว่า อาคารนี้ อายุร้อยอัพแน่นอน เพราะปีนี้ 2015 หรือ 102 ปีมาแล้วนั่นเอง

มุมประชามหานิยม ทุกคนที่มา กาดกองต้า ต้องมีภาพมุมนี้ .. แต่ร้านนี้เขาเปิดช่วงเย็นถึงค่ำ ผมมายังไม่เที่ยง ก็เลยได้ภาพนี้ไปพลาง ๆ ก่อน เดี๋ยวค่ำ ๆ จะแวะมาอีกครั้ง เพราะเมื่อนั่งริมหน้าต่าง ด้านที่รับลม เย็นฉ่ำ โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศเลยครับ

เป็นครั้งแรกในชีวิตของผม ที่มี .. แมวมอง ..

ถนนสายตลาดเก่า ในอดีตเมื่อชีวิตต้องพึ่งพิงแสงสว่างแห่งดวงตะวัน ความคึกคักคงเริ่มตั้งแต่แสงแรกของวัน หากปัจจุบัน เรามักจะหลงกับแสงสี ที่แต่งแต้ม จากความคิด ความคึกคักแห่งถนนการค้า จึงเริ่มต้น เมื่อตะวันเริ่มล้า และลับแสง

ผมเห็นรถแบบนี้ทีไร เป็นต้องนึกถึง ครั้งแรกที่สัมผัสกับความหนาว ที่หนาวสะท้าน จับใจ .. เช้ามืดวันนั้น หลังจากที่ผมลงรถทัวร์ที่พะเยา แล้วผมต้องต่อรถไปภูซาง (สมัยนั้น ไม่มีรถทัวร์จาก กทม.ตรงไปภูซาง) คนขับรถซึ่งหน้าตารถแบบนี้เลย บอกว่าไปหรือเปล่า รถจะออกแล้ว

ผมมองเข้าไปในรถ คนนั่งเต็มแล้ว แต่นึกยังไงไม่รู้ ผมกระโดดเกาะท้ายรถ แล้วก็ห้อยอยู่ด้านท้าย คิดว่าเดี๋ยวคงจะมีคนลง แต่ผมคิดผิดครับ ไม่มีใครลงเลย ตลอดทาง ช่วงนั้นอากาศหนาวววววว มาก แล้วผมต้อง โต้ลมหนาว อยู่ท้ายรถ บรื้อออออ

สะพานรัษฎา สัญญลักษณ์ของนครลำปาง ชื่อได้บ่งบอก ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสะพาน สะท้อนความสำเร็จบางอย่าง และจุดจบของบางอย่าง ซึ่งล้วนแล้ว นำมา ซึ่งความเปลี่ยนแปลง ทั้งคนเดินดิน กินข้าวแกง และคนขี่ม้า นั่งวอ กันโดยถ้วนหน้า

ตัดผม กันสักหน่อยไหมครับ

สถานที่ขายยาแผนโบราณ ในเรือนแถว ที่แม้ภายนอกจะดูเก่าแก่ แต่ภายในปรับปรุงสะอาดสอ้าน แถมเจ้าของร้านใจดีอีกต่างหาก เห็นผมขยับ ๆ ถ่ายรูปอยู่หน้าร้าน ก็เลยกวักมือ บอกเข้ามถ่ายข้างในร้านก็ได้

ภายในร้านขายยาแผนโบราณ บุญส่ง .. ริมถนนตลาดเก่า สะอาดมาก แม้กระป๋องใส่ยา จะดูเก่าจนขลัง แต่บนชั้นไม้ มันปร๊าด ปราศจากฝุ่น เจ้าของร้าน ของผ่านการอบรม 5 ส. มาเป็นอย่างดี

บนโต๊ะ จัดยา หน้าร้าน ทำให้ผมนึกถึงหนังจีน เก่า ๆ ลูกคิดคงใช้คิดเงินมาหลายสิบปี คิดเงินผ่านมา อาจจะเป็นหลายสิบ หลายร้อยล้าน แล้วก็ได้ ใครจะไปรู้

ผมเคยเห็นร้านสายหนังแบบนี้ ในช่วงหนังล้อมผ้า หนังกลางแปลง กำลังเฟื่องฟู ผู้คนที่มาติดต่อหนังไปฉาย จะนั่งรอคิวกันจนล้นออกมานอกร้าน ยุคนั้น ผ้าป่าจากกรุงเทพจะไปกันช่วงตรุษจีน และที่ขาดไม่ได้เวลาทอดผ้าป่า คือ หนังกลางแปลง ที่จะฉายตั้งแต่ สิ้นแสงแดด จนกระทั่งแดดอ่อน ๆ เริ่มจับท้องฟ้ากันเลย

หลาย ๆ คน ที่เกิดในยุค 3G 4G คงนึกภาพ คนนับร้อย ปูเสื่อ พร้อมหมอนและผ้าห่ม มาจับจอง นอนดูหนัง ที่ลานกลางหมู่บ้านไม่ออก .. แต่ขอบอกเลยว่า โรแมนติก นะ

ในที่สุด ผมก็ขี่จักรยาน มาถึงตีนสะพานรัษฎา (จักรยานคันเก่งผม แอบอยู่ตรงมุมซ้ายมือในภาพ) ตัวผมไปนั่งเล็งกล้องอยู่กลางถนน อยากได้ภาพสวย ต้องใจกล้า หน้าด้าน เข้าไว้ สายไฟรกไปหน่อย แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง

ก่อนมาลำปาง ผมนั่งดูรูปของนักเดินทาง ที่เคยมาก่อนหน้านี้ ผมรู้สึกชื่นชอบมา กับ สะพานรัษฎา ดังนั้น เมื่อผมมา ผมก็จะเดินวนเวียน หามุมโน่น นี่ นั่น ไปเรื่อยเปื่อย เสียดาย ที่ตอนนั้น มีแค่เลนส์ 18-135 ตัวเดียว ภาพที่ได้ เลยไม่ตรงกับสิ่งที่คิดไว้ สักเท่าไร

ถ้าเราเป็นแค่นักท่องเที่ยว ที่ชื่นชอบในการถ่ายภาพ ไก่ กับ ครุฑ บนเสาเชิงสะพานรัษฎา ก็คงเป็นเพียง ความงาม ที่แปลกตา แต่ถ้าหาก ก่อนมานครแห่งนี้ ได้อ่านเกร็ดประวัติศาสตร์สักเล็กน้อย เราก็จะเข้าใจ ความหมาย แห่ง ไก่ และ ครุฑ ว่า ทำไม ต้องเป็น ไก่ ทำไม ต้องเป็น ครุฑ

เส้น แสง เงา และฟรอนต์ ที่แปลกตา ที่สะพานรัษฎา วันที่แดด มาบ้าง ไม่มาบ้าง ควันไม่มี หมอกไม่มา

เห็นภิกษุรูปหนึ่ง กำลังเดินไปบนสพาน ไอเดียบรรเจิด แต่ภาพออกมา ไม่เห็นจะเป็นอย่างที่คิด

และผมก็ ขอจบ เช้าวันหนึ่ง บน ถนนตลาดเก่า ไว้แค่นี้ เพราะเวลานี้ก็ใกล้เที่ยง และมาถึงจุดที่ผม จะก้าวพ้นถนนตลาดเก่า เพื่อข้ามสพานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ไปสู่ฝั่งขวาของน้ำวังแล้ว (ผมเคยสับสนว่า ฝั่งซ้าย ฝั่งขวาของลำน้ำ เขานับกันอย่างไร ในที่สุด ก็เลิกสับสน เมื่อทราบว่า ให้เรายืนหันหน้าไปทางปากน้ำ ด้านหลังคือต้นน้ำ แล้วก็ยกมือขึ้น)


เช้าวันหนึ่ง บนถนนตลาดเก่า (ตอนที่ 1/2) .. นครลำปาง งดงามกว่าที่คิด คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา