ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
บนเส้นทางสู่เรณูนคร (ตอนที่ 2/2)
นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เป็นตอนต่อ ของ บนเส้นทางสู่เรณูนคร (ตอนที่ 1/2) เข้าเรื่องกันเลยครับ

หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เกษตรกร กำลังโรยปุ๋ย ให้กับต้นใบยาสูบ ต้นแล้ว ต้นเล่า สุดสายตา

ยืนต้น เฝ้ามอง ความเป็นมา แห่งริมน้ำโขงมา นานแสนนาน ชีวิต ยังคง ดำเนิน จากหนาว สู่ร้อน และฝน คงจะมาเยือน อีกไม่นาน

ลมโชย หล่อไหมครับ น่ารักอีกต่างหาก ไม่เกเร ไม่รวนกวนโมโห ให้ไปไหน ก็ไป ให้หยุดก็หยุด ไม่บ่นสักคำ

นครพนม มีอะไรอีกมาก ที่จะให้ผมได้แวะเวียน ไปเยี่ยมชม ตามผมไปเรื่อย ๆ นะครับ

นาสวย ข้างทาง ... มีน้ำ ก็พลิกดินแล้ง ให้เขียวได้ แม้จะเป็นช่วงปลายหนาวแล้วก็ตาม ... โครงการสูบน้ำทำนา ที่นครพนม

ออกจากไร่ยาสูบ วัดท่าหนองจันทร์ ผมขี่ ลมโชย ย้อนกลับมาที่ถนนสายหลัก แล้วก็ล่องลงใต้ มาอีกสักพัก เจอป้ายแยกเข้า วัดป่าเมืองเก่า ... ฟังชื่อแล้ว มีทั้งป่า มีทั้งเมืองเก่า ไม่แวะ ไม่ได้แล้ว ... ถนนในชนบท แถวนี้ เป็นคอนกรีต ไม่มีลาดยาง ไม่มีลูกรัง ... พี่สาว คนนี้ กำลัง เข็นมันแกว คงถกจากสวนหลังบ้าน ไปตั้งขายที่ริมถนน

ลมโชย พาผมหลงทางซะแล้ว ... โผล่อีกที เจอ สวนมะเขือเทศ ที่ริมโขง ... มะเขือเทศสด ๆ

พี่สาวคนนี้ ก้มหน้าก้มตา เก็บมะเขือเทศ ผมสงสัยเหมือนกัน ว่าทำไม มะเขือเทศแถวนี้ พันธุ์อะไร ทำไม ต้นเตื้ยติดดินเลย ใครรู้ ช่วยชี้แนะด้วยครับ

แดงมะเขือเทศ ไม่ค่อยสวย ขอเปลี่ยนเป็น เหลืองต้นอะไรไม่รู้ ดีกว่า มีน้ำโขงเป็นฉากหลัง อีกต่างหาก

มองไปอีกด้านหนึ่ง ของไร่มะเขือเทศ เป็น ไร่ข้าวโพด แล้วก็อะไรอีกหลายอย่าง สายไฟระโยงระยาง มีท่อพีวีซี คงจะกำลังจะปั๊มน้ำ ส่งไปตามท่อ หล่อเลี้ยงพืชไร่เหล่านี้

หลังจากหลงทาง ไปชม ไร่มะเขือเทศ และไร่ข้าวโพดแล้ว ผม + ลมโชย ก็มาถึง วัดเมืองเก่า ... ดูจาก ซุ้มประตู คงไม่เก่า อย่างที่คิดสักเท่าไร ... หลวงลุง ที่วัด เล่าว่า เมื่อก่อน ที่นี่เป็นที่ตั้งของหน่วยปฏิบัติการทางทหาร (พอดีผมถามเรื่อง เล้าข้าว ที่มีขนาดใหญ่โตมาก)

อุโบสถ หลังเล็ก ๆ ของ วัดเมืองเก่า เรียบ ๆ ง่าย ๆ

ผมและลมโชย ย้อนกลับมา บนถนนสายหลักอีกครั้ง ทุ่งนาฝั่งซ้าย ซึ่งติดกับน้ำโขง เขียวชอุ่ม ในขณะที่ ทางขวามือ แห้งแล้ง ตามปกติ ของฤดูแล้ง ที่มาเยือนแล้ว

ถนนในชนบท ที่เมืองนครพนม เท่าที่ผมเห็น จะออกมาประมาณนี้ ซอกแซกไปโน่น นี่ นั่น ยังไม่เจอ ถนนลูกรัง ฝุ่นตลบ อย่างเมื่อตอนที่ผมหนุ่ม ๆ

ป้ายหมู่บ้านเท่ห์ กับต้นไม้สวย ๆ มีทุ่งนาเขียว ๆ เป็นฉากหลัง อดหยุด ลมโชย ลงมาถ่ายรูปไม่ได้ครับ

บนถนนสายเลียบโขง จากนครพนม ไปธาตุพนม เรณูนคร ผมเจอป้าย ชวนให้ต้องเลี้ยว แบบนี้ หลายแห่งอยู่ครับ ... และนี่ ก็ต้องเลี้ยว เข้าไปดูสักหน่อย

เจอวัดแรก ดูสวยงาม แต่ไม่ใช่วัดแก่งเมือง ตามป้าย ... เป็น วัดจอมศรี ถามคนในชุมชน เขาชี้ให้ไปทางโน้นนนนน

ลัดเลาะตามถนนปลอดฝุ่น ที่ราบเรียบ กว่าถนนเข้าหมู่บ้านผม ซึ่งอยู่ใจกลาง กทม. ซะอีก ... วัดแก่งเมืองโบราณสถาน ดูร่มเย็นดีครับ

ซุ้มประตูวัด ท่าทางเอี่ยมเฟี้ยม คงสร้างไม่นาน แต่ก็งดงามครับ

พระพุทธรูป ท่ามกลางแมกไม้ ดูร่มเย็น ทั้งกาย ทั้งใจ

บนฐานที่ครั้งหนึ่ง คงเป็น สิ่งปลูกสร้างที่สำคัญ ยังคงดำรงอยู่

วัดแก่งเมือง โบราณสถาน มีศิลาจารึก ... หลวงลุง บอกผมอย่างนั้น แต่หลวงลุงเอง ก็ไม่รู้รายละเอียด ผมลองค้นข้อมูลจากเน็ต ก็ไม่เจอข้อมูลอะไร สรุป ก็คือ ไม่รู้อะไร

หน้าตา ศิลาจารึก ที่วัดแก่งเมือง เป็นการ แกะสลักตัวอักษร บนหินทราย พอดีผมจบวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์มา ดูแล้ว ก็ไม่รู้เรื่อง ใครเป็นกูรู ช่วยแชร์ข้อมูลกันหน่อย

จากศาลา บนฝั่งตลิ่ง มองไปทางลำน้ำโขง เป็น ไร่ยาสูบ กว้างใหญ่ มีชาวไร่ เดินไปเดินมากันหลายคน ดู ๆ แล้ว น่าจะเป็นการทำไร่ โดยกลุ่มทุน มากกว่า เป็นการทำแบบเกษตรกรรายย่อย

อีกมุมหนึ่ง ของฝั่งโขง ที่มองจาก ศาลาที่วัดแก่งเมือง

ผม ออกมาสู่ถนนสายหลักอีกครั้ง ระหว่างทาง มีร้านค้าตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ ดูหน้าตาแล้ว น่าจะเป็นคนระแวกนั้น ของในร้าน ดูจะเป็นของในท้องถิ่นนั่นเอง

เราลองมาสำรวจ สินค้าในร้านกันสักหน่อยดีไหมครับ เริ่มจาก ฟักทอง แม่ค้าหน้าหวาน บอกผมว่า เป็น ฟักทอง จากสวนหลังบ้าน พร้อมกับชี้ไปที่บ้าน ที่อยู่ไม่ห่างจากร้านเท่าใร

สิ่งหนึ่ง ที่เราเห็นอยู่เกือบทุกร้าน ในเมืองนครพนม คือ อุ ซึ่งเป็นเหล้าหมัก พื้นเมือง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ คือ ไห วิธีการดื่ม คือ ดูดจากไห ด้วยหลอดที่ทำขึ้นโดยเฉพาะ และแน่นอน คือ รสชาติ ที่แตกต่าง ไม่ซ้ำแบบ กับใคร ใน 3 โลก

หอมแดง หัวเล็ก ๆ เนื้อแน่น ในฐานะคนชอบเข้าครัว ทำกับข้าว เห็นแล้ว ก็รู้ได้ว่า เป็นหอมแดง ที่พ่อครัวแม่ครัว ไม่ควรพลาดที่จะซื้อกลับบ้าน ... แต่งานนี้ พ่อครัวอย่างผม ไม่ได้ซื้อ เนื่องจากยังต้องเร่ร่อน อีกหลายวัน คงไม่สะดวกเท่าไร ให้รู้สึกเสียดาย นาน ๆ จะเจอหอมแดง เนื้อแน่น ๆ แบบนี้สักครั้ง และเช่นเคย คุณแม่ค้าหน้าหวาน ก็ยืนยันว่า เป็นหอมแดง ที่ปลูกในหมู่บ้าน หลังร้านนี่เอง

กระเทียมโทน น่าจะเป็นของในร้านไม่กี่รายการ ที่มาจากที่อื่น ฟัง ๆ ดู เหมือนจะมาจากต่างแดน ข้ามมาทางสะพานมิตรภาพ ที่เพิ่งสร้างเสร็จนี่เองครับ

ไฮไลท์ของที่นี่ ดูช่างไร้ค่ามาก หน้าตากระมอมกระแมมเลย ... มันแกว ... ผมมองผ่าน ๆ เพราะความเป็นมันแกว แม้ว่าเมื่อตอนเด็ก ๆ ชอบซื้อกินมาก ร้านจะหั่นเป็นชิ้น ๆ แช่เย็น กินแล้วชื่นใจ แต่ตอนหลัง ๆ เหมือนกับว่า มันแกวอร่อยน้อยลง ก็เลยไม่สนใจ

แต่ คุณแม่ค้า บอกว่า มันแกวที่นี่ ไม่เหมือนที่อื่น รสอร่อยมากกกกกก ปลูกบนดินทราย เนื้อแน่น หวาน หอม ผมทำหน้าไม่เชื่อหรือไงไม่รู้ แกก็เลยยื่นมาให้หัวหนึ่ง พร้อมมีด แต่ท่าปลอกมันแกวผม คงขัดตา แก็เลยจัดการปลอกให้เลย ... หวานจริง หอมจริง อร่อยจริง ขอบอก

ฟักแก่จัด ท่าทางผมต้องเรียกเขาว่าพี่ แน่ ๆ เลย ... อันนี้ คงไม่ต้องถามที่มา คุณแม่ค้าหน้าหวาน ว่าเป็นฟัก ที่มาจากไหน คงไม่มีใครแบกฟัก จากต่างประเทศ มาขายที่นี่แน่ ๆ

เครื่องจักรสาน ฝีมือละเอียด มีไม่กี่ชิ้น ลืมถามคุณแม่ค้า ว่า คนสาน อยู่ในหมู่บ้านหรือเปล่า

ไม้ฟืนแบบนี้ ผมเห็นทั่วประเทศเลย ไม่รู้บริษัทอะไรผลิต การกระจายสินค้า ทำได้เยี่ยมมาก

หลายคน อาจจะไม่คุ้นกับสิ่งนี้ ... เขาเรียกว่า ถ่านไม้ ใช้เป็นแหล่งพลังงานให้ความร้อน สำหรับหุงต้ม ทำอาหาร คำเตือน ห้ามนำไปใส่ในโทรศัพท์มือถือ

ฝั่งตรงข้าม ก็มีร้านค้าแบบนี้เหมือนกัน

ตอนนี้ผมเริ่มหิว เลยเที่ยงมาพอประมาณแล้ว ผมเพิ่งมาได้ครึ่งทางเท่านั้น ยังต้องไปอีกราว 30 กิโล กว่าจะถึงเรณูนคร ผมคงจะควบ ลมโชย แบบว่องไว ราวกับ ลมพัด ไม่แวะที่ไหนแล้วนะครับ

เดี๋ยวเราไปเจอกัน ที่ เรณูนคร เลยก็แล้วกัน บ๊าย บาย เพื่อน ๆ ตรงนี้ ขอจบตอนนี้ก่อนครับ


บนเส้นทางสู่เรณูนคร (ตอนที่ 1/2) .. นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา