รีวิว .. เช้า ยัน เย็น ที่บางปะอิน (ตอนจบ 3/3) |
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว |
เป็นตอนต่อ จากตอนที่แล้ว (ตอนที่ 2/3)
อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์ .. มองลึกไปด้านหลัง ที่กำแพงวัง จะเห็นรอยคราบน้ำ ระดับน้ำท่วม เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ ประมาณนั้นเลยครับ ผมเองเพิ่งสังเกตเห็นตอนนี้ เหมือนกันครับ เพราะตอน เดินอยู่ในพระราชวัง มัวแต่เพลิดเพลิน กับสิ่งที่เห็นตรงหน้า
ประตูสาครประพาส จากการค้นในเน็ต มีรายละเอียดเพียงสั้น ๆ ว่า เป็นทางเข้าออกของเรือพระที่นั่ง .. ผมก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน รถพระที่นั่ง คงไม่เข้าออกทางประตูนี้แน่ ๆ
ผมเอง มโน ไปถึงว่า เวลาฝ่ายใน จะมาพักที่นี่ คงจะต้องขนอุปกรณ์มากมายมหาศาล และวิธีที่สะดวกในยุคนั้น ก็น่าจะมาทางเรือ .. ที่นี้ตำหนัก ฝ่ายใน ก็จะอยู่ในโซนนี้ คงจะง่าย ที่เอาเรือมาเทียบท่า ที่หน้าตำหนักเลย
แต่หลังจาก มโน แล้ว ตอนจะกลับ ผมอดไม่ได้ ที่จะถามเจ้าหน้าที่ คนแรก หน้าตาเป็นวัยรุ่น หัวเราะคิก ๆ บอกว่า หนูไม่รู้ พร้อมกับชี้ ให้ไปถามพี่อีกคน หน้าตา รุ่น เหมือนกันครับ แต่คงจะ รุ่นแรก ๆ
พี่เขาก็หัวเราะ กับความคิดของผม พร้อมกับอธิบายว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่ผมคิด เวลาที่คนทางกรุงเทพมา จะขึ้นเรือที่ท่า (จำชื่อไม่ได้แล้ว) ทั้งคน ทั้งของ
คนก็จะเดิน ของก็จะแบก ลัดเข้าไปทางฝ่ายใน ทางโน้น (พี่เขาชี้ไปทางทิศโน้นประกอบ) อ้าว .. แสดงว่าที่ผม มโน มันไม่ใช่
อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า พระนางเรือล่ม อนุสรณ์ ความรักของพระราชา
และความเศร้าสลด อันเนื่องมากจาก ขนบ ธรรมเนียม ที่เข้มแข็งของสังคมในยุคนั้น ที่ผู้คน ยอมให้ความตายปรากฏต่อหน้า เพื่อตนเอง จะได้ไม่ต้องตายตกไป หากเข้าไปเกี่ยวข้อง
แนวคิดแบบตะวันตก ได้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน แม้ว่า จะเรื่องส่วนตัวมาก ๆ อย่างการสร้าง อนุสรณ์แห่งความรัก .. ด้วยความจำกัด ของ การรับรู้ ของผม เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้มีคำถามตั้งขึ้นมา แบบคนไม่รู้ แล้วอาจจะอินกับการดูหนัง มากไปก็ได้
ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ ตลอด 15 ปี ก่อนขึ้นครองแผ่นดิน ของยุวกษัตริย์ ได้รับการอบรม ถ่ายทอด ความรู้ จากพ่อ (ร.4) แต่ดูแล้ว น่าจะมี ครูคนอื่นอีก ที่น่าจะเป็นฝรั่ง
ไปค้นเจอมานิดนึง เกี่ยวกับ พระอาจารย์ฝรั่ง .. แอนนา แฮร์เรียต เอ็มมา เอ็ดเวิดส์ .. ซึ่งได้เข้ามาสอน ในวังเพียง 4 ปีครึ่ง แล้วออกจากเมืองไทยไป เมื่อปี 2410 หรือก่อน ร.5 ขึ้นครองราชย์ นั่นคือ ได้เป็นครูให้ ร.5 ช่วงอายุ 10-14 ปี
ผมเริ่มมองนาฬิกาแล้ว เพราะวันนี้ พระราชวังบางปะอิน เปิดแค่ครึ่งวันเท่านั้น ผมเลยต้องก้าวยาว ๆ เก็บภาพไวไว ทำให้ จินตนาการ ขาดหาย .. ที่จริงแล้ว การเดินดูตำหนัก ของฝ่ายใน น่าจะละเมียดละไม ให้มากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่อง ของชีวิต ความเป็นอยู่ ของผู้คน จำนวนไม่น้อย และล้วนเป็นสตรี ทั้งสิ้น
บรรพบุรุษทางพ่อผม เป็นชาวนาจน ที่ไร้ที่นา แห่งทุ่งบางประหัน ทางแม่ ก็เป็นเจ็ก จีน ที่ทำมาค้าขาย ล้มลุก คลุกคลาน ดังนั้น จะหวังได้ยินเรื่องเล่า เกี่ยวกับวัง จากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็คงเป็นไปไม่ได้
ผมจึงมีคู่มือ เรื่องราวของชาววัง โดยเฉพาะฝ่ายใน จากหนังสือเรื่อง สี่แผ่นดิน ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งผมได้อ่านครั้งแรก น่าจะเป็นช่วงที่ผมอยู่ ชั้นประถมปีที่ 3 ไม่ใช่ว่าผมเป็นคนรักการอ่าน หากเป็นเพราะ บ้านญาติที่ผมไปอาศัยอยู่ เขาไม่ให้ผมออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน (บ้านญาติผม อยู่กลางสลัมย่านสุทธิสาร) ผมไม่รู้จะทำอะไร ก็อ่านหนังสือที่มีอยู่ในบ้าน จนหมดทุกเล่ม
นิยาย หลายเรื่อง ที่เขียนโดยหลายคน มีฉากของฝ่ายใน แต่ผมอ่าน ๆ แล้ว ให้รุ้สึกว่า เขาน่าจะใช้ คู่มือ เล่มเดียวกับผมแน่ ๆ เลย
เพราะฉากที่พูดถึง ตัวละคร ทั้งตัวเอก ตัวรอง ล้วนมีบุคคลิก ที่ถอดเอา แม่พลอย และแม่ช้อย ออกมาอย่างกับแกะ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อ เท่านั้นเอง .. นักเขียนดังด้วยนะครับ ไม่กล้าเอ่ยชื่อ เดี๋ยวเขาจะมาฟ้องเอา
เมื่อ ผม มาเดิน ตรงที่ครั้งหนึ่ง เคยเป็น ฝ่ายใน ภาพของแม่พลอย แม่ช้อย เด่นชัดขึ้นมา ซึ่งต้องขอบคุณ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราว ชีวิตของคนจำนวนมาก ผ่านสายตา ของคน คนหนึ่ง ได้อย่างงดงาม
เพียงแต่ว่า ฝ่ายใน ที่วังหลวง ผมไม่สามารถเข้าไปได้ การได้มา พระราชวังบางปะอิน ช่วยเติมเต็ม ภาพที่ขาดหาย ให้สมบูรณ์มากขึ้น
การมาเห็นตำหนักฝ่ายใน ที่พระราชวังบางปะอิน ทำให้ ภาพ ของ เสด็จ ของแม่พลอย ประทับอยู่ตรงโน้น ตรงนี้ มีนางข้าหลวง เฝ้าถวายงาน อยู่ตามระเบียงตำหนัก .. การคลานเข่า จากหัวบันได ไปยังตั่งที่ประทับ .. มีสเกล ระยะทาง ที่ชัดขึ้น .. บางตำหนัก กว้างใหญ่ เข่านางกำนัล คงจะด้านเลยละ
ในแผ่นพับที่พระราชวังบางปะอินให้มา ได้ให้ข้อมูลว่า ตำหนักฝ่ายใน ได้รื้อถอนออกไปเป็นจำนวนมาก ถ้าหลับตาดูจากพื้นที่ แสดงว่า ในยุคที่รุ่งเรือง พื้นที่แห่งนี้ คงแออัดไม่น้อย
ในส่วนที่ดำรงอยู่ มีการซ่อม ปรับปรุงไปมาก แต่เสียดาย ที่วันนี้ ผมเร่งรีบ ให้ทันเวลาปิด เลยไม่ได้แวะ ขึ้นไป ดื่มด่ำ .. มโน .. เรื่องราว ของ แม่พลอย แม่ช้อย บนตำหนัก สักแห่งเลย วันไหน ว่าง ๆ คงต้องแวะไปอีกสักครั้ง
พระตำหนักเก้าห้อง อยู่ลึกสุด เลยครับ เป็นตำหนักที่ประทับของพระบรมวงศ์ฝ่ายใน ที่ตามเสด็จฯ คราวแปรพระราชฐาน
ระหว่างค้นหาข้อมูลทางเน็ต ผมพบว่า ตำหนักวรนาฏเกษมสานต์ ซึ่งเป็นตำหนัก ที่แม่พลอย และแม่ช้อย แห่งสี่แผ่นดิน ได้มาพัก ระหว่างติดตามเสด็จ เสด็จมาประทับ ได้รื้อไปแล้ว เสียดายครับ
อีกมุมหนึ่ง ของตำหนักเก้าห้อง ต้องหลับตา ถึงจะเห็น บรรดาข้าหลวงขวักไขว่ เพื่อถวายงาน เจ้านายที่ตนเองสังกัด .. มาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึง โรงครัว .. อยู่ตรงไหนก็ไม่รู้
เกือบบ่ายโมงแล้ว ตามเวลา ผมควรจะอยู่แถว ๆ หน้าประตูทางออกได้แล้ว .. ผมเดินผ่าน ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี .. รู้สึกตื่นเต้น พอ ๆ กับแม่พลอย ที่พูดไว้ในสี่แผ่นดิน ภาพนางข้าหลวงที่ตำหนักนี้ นุ่งซิ่น (สมัยนั้น หญิงไทยนุ่งโจง) ฟันขาว (หญิงไทยฟันดำ เพราะเคี้ยวหมาก) ผมยาวปะบ่า (หญิงไทยตัดสั้นทรงปีก) และยังทำครัวเอง มีอาหารแปลก ๆ (ของแม่พลอย)
เรื่องราวของ เจ้าดารารัศมี เจ้าหญิงในราชวงศ์ทิพย์จักรจากนครเชียงใหม่ ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการรวมล้านนาเข้ากับสยาม สนใจลองค้นหาดูครับ
ตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ดูโปร่งสบาย สมกับ การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ดังปรากฎในประวัติต่าง ๆ ที่ผมได้อ่านผ่านตา และดูจากสถานที่ตั้ง เหมือนจะอยู่ห่างออกมาจากตำหนัก และเรือน อื่น ๆ ออกมา .. เป็น มโน ของผมเองนะครับ จริง ๆ อาจจะไม่ใช่ก็ได้
เดินแบบ รีบ ๆ แต่ก็ยังอด ที่จะหันไปเก็บภาพ อีกสักหน่อยไม่ได้ เพราะ ท้องฟ้า เริ่มแจ่มใส ขึ้นมานิดนึงแล้ว
ผมข้ามฟากมายังวัด นิเวศน์ฯ คนพลุกพล่านเต็มไปหมด เพื่อรอรับเสด็จพระเทพฯ ผมเลยขี้เกียจถ่ายรูปขึ้นมาดื้อ ๆ และ อีกสักพัก ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก ก็เลยต้องนั่งดู ฝน ชั่วโมงกว่า ๆ
ระหว่างนั้น ได้คุยฆ่าเวลา กับคนขายตรง กาแฟเพื่อสุขภาพ ยี่ห้อหนึ่ง ฟัง ๆ ดูแล้ว ก็กลุ้มใจ เพราะความรู้เรื่องผลิตภัณฑ์ของคนระดับผู้จัดการ (นามบัตรที่เขาให้มา ระบุไว้อย่างนั้น) มีน้อยมาก เน้นแต่ว่า มาร่วมงานกับเรา รายได้เป็นแสน ผมกลัวจะรวยครับ กลัวมากเลยครับเรื่องจะรวย แต่ไม่กลัวเลย กับความรวย
ลืมเล่าไปว่า ก่อนฝนตก ผมไปกินก๋วยเตี๋ยว ที่โรงทานของวัด มาด้วยครับ อร่อยมาก คนทำทุกคน เฮฮา สนุกสนาน สมกับเป็นงานบุญโดยแท้ .. แต่อยากฝาก เรื่อง ชามโฟม ที่ใส่ก๋วยเตี๋ยว สะดวกดี กินแล้วทิ้ง ไม่ต้องล้าง แต่มานึก ๆ แล้ว ขยะก็เพิ่มขึ้นอีกมากเลย จริงไหมครับ
วกกลับมาต่อ .. พอฝนซา ผมก็กระโดดขึ้นเรือ (ไม่ได้นั่งกระเช้า เพราะคนเยอะมาก) แล้วขับรถ วนไปรอบ ๆ ตัวตลาดบางปะอิน ซึ่งเป็นตลาดเล็ก ๆ ดู ๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงคงจะมีน้อยมาก แต่ฝนยังพรำ ๆ เลยไม่ได้ลงไปเดินเล่น เก็บภาพมาฝาก
จากนั้น ก็ย้อนกลับ มาทางพระราชวัง เลาะริมกำแพง ตัดออกไปสถานีรถไฟ เก็บภาพมาฝาก
เย็นแล้ว ควรจะกินอาหารเย็น ก่อนกลับบ้าน เผื่อรถติด จะได้ไม่โมโหหิว .. ตังส์มีไม่มาก แต่อยากกินของอร่อย .. ร้านนี้ ยางเดี่ยว ดูท่าทางอร่อย (ผมไม่ได้ค้นเรื่องของอร่อย ก่อนการเดินทาง เพราะไม่ค่อยเน้นเรื่องการกินสักเท่าไร) ชื่อก็ชัดเจน เพราะตั้งอยู่ใต้ต้นยางนา ต้นเดียว สูงใหญ่ อายุน่าจะพอ ๆ กับพระราชวังบางปะอินเลยละ
วิวสวย ๆ จากโต๊ะอาหาร เขาไม่คิดเงินครับ ... ได้บรรยากาศ บ้านริมน้ำ เมืองอยุธยา เลยครับ
บ้านย่าผม ที่ บ้านหัวหาด บางปะหัน ก็สูงราว ๆ นี้ เวลาหน้าน้ำ เรือก็จะจอดเทียบระเบียงบ้านชั้นบนกันเลย .. พ่อเล่าว่า ช่วงน้ำหลาก จะเป็นช่วงหน้าหนาว เช้า ๆ กุ้งจะขึ้น พอโดดน้ำลงไปใต้ถุนบ้าน ลูบ ๆ ตามเสาบ้าน ก็ได้กุ้งตัวใหญ่ ๆ มากินแล้ว ... ไม่รู้พ่อผมโม้เกินไปหรือเปล่า
ดูโรแมนติกดีนะครับ ระหว่างรออาหาร ก็เก็บภาพไปเรื่อย ๆ ยุคสมัยเปลี่ยนไป เรือ ก็หน้าตาแปลกไปแต่ก็ยังเป็นเรืออยู่ .. ทางขวามือ เป็นถนน ช่วงขับรถผ่าน เห็นมีลานจอดรถ บ้านทางซ้ายมือ คงจะจอดรถตรงนั้น ผมเห็นมีการโทร ให้คนพายเรือมารับอีกฟากคลองหนึ่ง
เมื่อก่อน ญาติผมอยู่คลองบางหลวง ต้องตะโกนข้ามคลอง เรียกแม่ ให้พายเรือมารับ อีกฟากคลองหนึ่ง .. เวลาเปลี่ยน หลาย ๆ อย่างก็เปลี่ยน
ไม้ใหญ่ ร่มครึ้ม นึกถึง แม่มณี แห่งทวิภพ ของทมยันตี ที่ตื่นมา ในเรือนนกเขา เสียงตำข้าว กลิ่นควันไฟ ล่องลอย มาตามสายลม แม้ตะวัน ยังไม่พ้นขอบฟ้า
เหมือนภาพบนจอ เวลาเราไปดูหนัง ยังไง ยังงั้น เลยนะครับ
โต๊ะรก ๆ เป็นของคนที่เขาเพิ่งลุกไป สาวเสริฟ ร้านนี้ ระดับ สว. ทั้งนั้น ผมเรียก คุณป้า ได้ทุกท่าน อะไร ๆ ก็เลยอ้อยอิ่ง พอ ๆ กับสายน้ำ สายลม ที่อบอวล รอบ ๆ ตัวเรา .. จะรีบร้อนไปไหนกันละนะ
น้องสองคน กับหมาหนึ่งตัว ไม่รู้ไปไหนมา ผมเห็นเรือแบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงช่วงปี 2522 น้ำท่วมแถวหมู่บ้านชินเขต ผมไปเที่ยวบ้านเพื่อน ได้หัดพายเรือหน้าตาแบบนี้ เพื่อนเรียกว่า เรือหมู เป็นเรือขุดจากไม้ พายเบามาก แต่ก็โคลงเคลงมากเช่นกัน น้องที่ยืนที่ท้ายเรือได้แบบนั้น แสดงว่า เป็นคนริมคลอง ขนานแท้เลยครับ
สองสาว ขึ้นบ้านไปแล้ว ลืมเจ้าหมาน้อย ไว้ในเรือ ผมนึกขำ เพราะเขาจด ๆ จ้อง ๆ คงนึกในใจ ว่า ตรู จะโดดดีไหม 5555
ภาพนี้ ผมว่า อธิยาย เรื่องราว ของคนอยุธยา ได้ครบถ้วนเลยครับ เสียดายอยู่หน่อยนึง ตรง หลบสายไฟฟ้าแรงสูงไม่ได้ 5555
หลังจากที่รอนานพอสมควร อาหารคนจน ก็มา .. ปลาน้ำเงินทอดกระเทียม (เคยไปกินที่อุทัยธานี ตัวใหญ่กว่านี้มาก สงสัยคนกินกันมากขึ้น ปลาเลยโตไม่ทัน) แล้วก็ต้มยำปลาม้า อร่อยมาก พริกคั่วที่หอม ๆ แล้วยังมีพริกขึ้หนูสวย เม็ดเล็ก บุบ ๆ มาด้วย เคี้ยวเล่น รสชาต ขึ้นสมอง ไม่ใช่พริกขี้หนูที่เหม็นเขียว ที่เคยกินอยู่เป็นประจำ ข้าวหอมมะลิ นุ่มกำลังดี ... ส่วนน้ำปลาพริก และน้ำจิ้มอีกถ้วย ไม่ได้แตะเลย เพราะอร่อยจน ไม่ต้องเติมอะไรอีกแล้ว
ปลาน้ำเงิน .. ผมรู้จักครั้งแรก เมื่อหลงทางไปอุทัยธานี หิวมาก ก็เลยแวะแพ ริมน้ำสะแกกรัง เมนู มีทั้งปลาแดง ปลาน้ำเงิน ไม่มีก็ปลาเหลือง พอถามเขาว่า หน้าตาเป็นยังไง เขาก็พาไปดู ที่ อ่างปลา ผมนึกในใจว่า ปลาแบบนี้ ที่บ้านผมเรียกแบบเหมารวมว่า ปลาเนื้ออ่อน
เมื่อมาถึงตรงนี้ เมนูที่ผมคุ้นเคย ตอนที่แม่ยังอยู่ ก็คือ ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม .. วันนี้ ผมก็เลยสั่ง ปลาน้ำเงินทอดกระเทียม แค่เห็นก็รู้แล้วว่า สด พอเคี้ยว ก็รู้ว่าอร่อย กินไม่เหลือซาก ให้ตกค้างเลยครับ
พูดถึงปลาแม่น้ำแล้ว ต้องยกให้แม่ยายผมเลยครับ พอแม่รู้ว่า พวกผมจะไปเยี่ยม แม่ก็จะสั่ง พรานปลา ไว้ ถ้าได้ปลา ให้แวะมาด้วย ... ไม่น่าเชื่อเลยครับ แม่น้ำน่าน ที่ไหลผ่านหน้าบ้านแม่ยายผม จะมีปลาแม่น้ำตัวอย่างใหญ่เลยครับ ปลาเค้า เป็นปลา ที่พรานปลา มักจะได้มาบ่อย ๆ
แต่ที่ผมสั่งต้มยำวันนี้ ไม่ใช่ปลาเค้า หากเป็นปลาม้า ซึ่งคนแบบผม ถ้าเอาปลาม้า ปลาเค้า ปลาสวาย ปลาบึก มาวางเรียงกัน ผมแยกแยะไม่ออก อย่างแน่นอน ... แต่ต้มยำปลาม้า วันนี้ อร่อยมาก .. จะว่าไป อาหารอร่อย ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเลย ถ้ารักที่จะทำ ใคร ๆ ก็รู้ว่า ต้องมีน้ำสต๊อก ปลาต้องสด น้ำต้องเดือด พริกคั่วต้องใหม่ พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็ก ที่เป็นพริกขี้หนูสวนจริง ๆ มะนาวต้องเป็นมะนาวจริง ๆ อย่าบีบแรงมาก
พูดแล้วน้ำลายไหล ผมนะสังกัดพวกละเลงขนมเบื้องด้วยปาก อย่าเอาเป็นอารมณ์นะครับ
กินอิ่มแล้ว เช็คบิล ราคาพอ ๆ กับร้านข้าวต้มปากซอยบ้านผม แต่รสชาติ คนละเรื่องเลย
เย็นมากแล้ว ได้เวลากลับบ้าน .. รถไม่ติดอย่างที่คิดไว้ เพราะตำรวจเร่งระบายรถ อีกสักพัก พระเทพฯ จะเสด็จกลับ จากถวายผ้าพระกฐิน .. แป๊บเดียว ผมก็ถึงบ้านแล้วครับ
จบแค่นี้ครับ
เช้า ยัน เย็น ที่บางปะอิน (ตอนแรก 1/3) คลิก คลิก
เช้า ยัน เย็น ที่บางปะอิน (ตอน 2/3) คลิก คลิก
รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่
Booking.com
|