ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
รีวิว .. เช้า ยัน เย็น ที่บางปะอิน (ตอน 2/3)
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เป็นตอนต่อ จากตอนแรก ที่ผมไปเดินถ่ายรูป เพลิน ๆ ที่ บางปะอิน ครับ

สะพานเสาวรส .. ฉนวน จากพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ซึ่งเป็นฝ่ายหน้า ข้ามไปยัง ประตูเทวราชครรไล .. ฝั่งนี้ จะเป็นฝ่ายในเดิน ส่วนฝ่ายหน้า จะเดินอีกฝั่งหนึ่งของผนังไม้ บานเกร็ดนี้

ถ้าเคยดูหนังเรื่อง สุริโยทัย ช่วงอยู่พิษณุโลก ที่จะเป็น ฉากผ้า จากเรือน ไปยังท่าน้ำ .. จะว่าไปแล้ว ช่วงที่ผม ไปทำงานอีสานใหม่ ๆ ผมก็งง ๆ เล็กน้อย ที่บ้านแต่ละหลัง จะมีห้อง ห้องหนึ่ง เป็นห้องสำหรับลูกสาว ห้ามคนนอกเข้า .. สังคมตะวันออก จะเป็นแบบนี้

อีก ด้านหนึ่งของ สะพานเสาวรส .. ฉนวน .. ถ้าเคยอ่านนิยาย เกี่ยวกับ วัง วัง ของไทยแล้ว เราจะได้ยินคำนี้บ่อย .. อย่าง สี่แผ่นดิน ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช .. แม่พลอย จะพูดถึงหลายครั้ง

อีกมุมหนึ่งของ สะพานเสาวรส .. ฉนวน .. นึกถึง ช่วงที่ ร.5 ทรงประทับ และเสด็จพระราชดำเนินผ่าน คงจะคึกคักมากทีเดียว ในช่วงเวลานั้น

ฝั่งนี้ ของ ฉนวน .. ที่ฝ่ายหน้า ใช้สัญจร ไม่มีหลังคาคลุม เหมือนอีกด้าน แดดร้อน และตากฝน อีกต่างหาก .. แต่ผมนึกไม่ออก ว่า ฝ่ายหน้า จะเดินไปไหน เพราะไปอีกนิด ก็จะเป็นประตู เทวราชครรไล ซึ่งปัจจุบัน เป็นห้องจัดแสดงรถม้า แต่ก่อนหน้านั้น ผมค้นไม่เจอว่า เอาไว้ทำอะไร

นกที่หัวสะพาน สะพานตุ๊กตา คงจะเป็นเหยี่ยว ผมเดาเอานะครับ

รถม้า พระที่นั่งของ ร.5 ที่แสดงอยู่ใน ประตูเทวราชครรไล โดยมีภาพเก่าแสดงร่วมด้วย ทำให้เราเข้าใจเรื่องราว ในช่วงเวลานั้นได้

นี่ก็เป็น รถม้าพระที่นั่ง ของ ร.5 อีกคันหนึ่ง ที่แสดงอยู่ที่ ประตูเทวราชครรไล

ผมเดินผ่าน ฉนวน ด้านฝ่ายหน้า พอมาถึง ประตูเทวราชครรไล ก็จะเป็นทางตัน ต้องเดินเข้าประตู ซึ่งเป็นที่แสดงรถม้าพระที่นั่ง แล้วก็เดินออกมาอีกด้านหนึ่ง ซึ่งด้านนี้ ในยุคนั้น คือ ฝ่ายใน ... ภาพนี้ เป็น ฉนวน ที่ มองจากฝ่ายใน ออกไป ทางฝ่ายหน้า (พระที่นั่งวโรภาษพิมาน) .. ทั้งคนอ่าน คนเล่า คงจะเริ่ม งง งง แล้วนะครับ

แพทรงบาตร .. ของเดิม ไม่น่าจะตั้งอยู่บนเรือเหล็กแบบนี้นะครับ น่าจะเป็นแพลูกบวบ (ไม้ไผ่ที่นำมามัดรวมกัน) ชานเรือนแพ ก็จะสูงจากผิวน้ำไม่มาก .. ผมดูจากแผ่นพับที่ให้มา ตอนซื้อบัตรเข้าชมพระราชวัง ดูยังไง ก็นึกไม่ออก ว่าพระท่าน พายเรือเข้ามาในวังทางไหน

ผมก็เลยถามเจ้าหน้าที่ ตอนจะกลับ เจ้าหน้าที่ บอกว่า ก็เข้ามาทาง ประตูสังฆสิทธิภัทรการ เจ้าหน้าที่ คงจะเห็นผม ทำหน้าเซ่อซ่า ก็เลยพูดต่อว่า ผู้หลักผู้ใหญ่ เคยเล่าให้ฟังว่า ที่เราเห็นเป็นสะพานปูน เมื่อก่อนล้วนเป็นสะพานไม้ ผมก็เลยถึงบางอ้อ เพราะ ถ้าเป็นสะพานแบบปัจจุบัน พระท่านจะพายเรือรอดสะพาน มาได้อย่างไร

การมาเห็น .. แพทรงบาตร .. ทำให้ภาพของ เรือนแพ พระนิติธรรมลือชา ที่มาอยู่ตรงข้ามเรือนคุณน้ำทิพย์ ใน นิยาย เรื่องลูกทาส (รพีพร) แจ่มชัดขึ้น ในหัวของผม .. จะว่าไปแล้ว ชีวิตในเรือนแพ ก็ยังมีอยู่เรื่อยมา อย่าง ท่านปรีดี พนมยงค์ บ้านท่าน ก็เป็นเรือนแพ

อีกมุมหนึ่ง ของ พระที่นั่ง วโรภาษพิมาน มองมาจาก แพทรงบาตร ซึ่งนอกจาก จะใช้ในการทรงบาตรแล้ว ยังใช้เป็นที่ทรงงาน แบบลำลอง

ผมใช้คำไม่ถูกต้องแน่ ๆ แต่ในหัวผม นึกถึงภาพ ที่ตามร้านอาหารมักจะติดเอาไว้ คือ ภาพของ ร.5 กำลังอยู่หน้ากะทะ บนเรือ ระหว่างที่เสด็จประพาสยุโรป (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ) ซึ่งเป็นอิริยาบถสบาย ๆ และถ้ามองจากโต๊ะทรงงาน บนแพ ก็จะเห็นภาพเบื้องหน้า แบบนี้เลยครับ

ภายใน เรือนแพทรงบาตร มีความงดงามยิ่งนัก

ร.5 คงจะมาทรงบาตร ทางด้านนี้ ระเบียงที่ลดระดับลงไปอีกสเตปหนึ่ง ช่วงนั้น คงจะอยู่ปริ่ม ๆ น้ำ แต่เดี๋ยวนี้ เอาเรือเหล็กมารองเรือนแพไว้ ระเบียงจึงสูงจากน้ำขึ้นมามาก บางคนไม่เข้าใจ อาจจะ งง ว่า แล้วท่านจะทรงบาตรได้อย่างไร ถ้าระเบียงอยู่สูงขนาดนี้ .. หรือความเข้าใจของผม ไม่ถูกต้อง

ไม่แน่ใจว่า เฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งจำลองเหตุการณ์ เป็นไปตามนี้ หรือไม่ เพราะดูโล่ง ๆ แล้วก็เหมือนแดดจะส่องเข้ามา เกินกว่า ที่จะนั่งทำงานได้จริง ๆ

จาก แพทรงบาตร มองตรงไปที่ ฉนวน .. ถ้าเป็นในยุคนั้น คนที่จะมาสัญจรได้ คงจะเป็นฝ่ายใน เท่านั้น .. และน้อยคนนัก ที่จะเดินได้แบบนี้

ผมเองยังจำได้ดี ช่วงเรียนมัยธมปลาย แล้วต้องไปติดต่องาน ที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ผมต้องคลานเข่า จากหน้าห้อง เพื่อเข้าไปพบผู้อำนวยการ ซึ่งปกติ นักเรียนชาย ไม่เคยคลานเข่าเลย แต่ที่นั่น เห็นเพื่อนนักเรียนหญิงเขาทำ ก็เลยต้องทำตามเขา

เก๋งบุปผาประพาส เป็นเก๋งไม้สักขนาดเล็กที่สร้างขึ้น ในปี 2424 ตามแบบสถาปัตยกรรมยุโรป เรียกว่า เรือนทรงขนมปังขิง ลักษณะอาคาร เป็นเรื่องไม้สักชั้นเดียว ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน มีมุข 2 มุข ประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุ ภายในวงกลมทั้ง 2 ด้าน นอกจากนี้ชายคาทั้งด้านบนและตอนล่าง ระดับด้วยลวดลายไม้ฉลุเช่นเดียวกัน รอบอาคารมีบานเกร็ดสามารถดึงเปิดรับลมได้ ทรงใช้เป็นที่พักผ่อนพระราชอิริยาบถภายในพระราชอุทยาน

ก๊อปมาจาก วิกิพีเดีย ง่ายดีนะครับ ในการหาข้อมูลในยุคปัจจุบัน ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมอาจจะต้องไปหอสมุดแห่งชาติ ใช้เวลาเป็นวัน ๆ ที่จะค้นเพื่อให้ได้ข้อมูล อันนี้มา

แต่อย่างที่บอก บางเรื่อง การหลับตาดู อาจจะทำให้ภาพชัดเจนมากกว่าลืมตา ก็เป็นได้

เก๋งนี้ อยู่บนตลิ่ง ใกล้ ๆ กับแพทรงบาตร อยู่ไม่ห่างจากพระที่นั่งวโรภาษพิมาน ซึ่งใช้เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการ เพียงเดินข้ามมาทางฉนวน .. ว่าไปแล้ว เก๋งนี้ เหมาะมากทีเดียว ที่จะเป็นที่พักผ่อน แบบสบาย ๆ ท่ามกลางสวนดอกไม้

ประตูวัง ชื่ออะไร ไม่รู้ แต่ช่วงเย็น ผมขับรถเลาะกำแพงวังด้านนอก พบว่า เป็นประตูที่เปิดออกไปทางด้านถนนที่จะไปสถานีรถไฟ ตอนแรกนึกในใจว่า ทำไมดูทรุดโทรมจังเลย แต่มานึกขึ้นได้ว่า คงจะเป็น ร่องรอยน้ำท่วมใหญ่ ที่ผ่านมา (เดาเอานะครับ)

โขลงช้าง ในพระราชวังบางปะอิน .. ก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวเกาหลี กลุ่มใหญ่ มาถ่ายรูป ส่งเสียงกันดังมาก เราได้แต่ยืนทำตาปริบ ๆ เพราะนี่ เป็นเขตพระราชฐาน คงจะต้องมีขอบเขตบ้าง เจ้าหน้าที่ ควรจะเตือนไกด์ บ้างนะครับ

พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ผมขอเรียกสั้น ๆ ว่า เก๋งจีน ดีกว่าไหมครับ ตอนเด็ก ๆ ที่ผมมาที่นี่ จำได้ว่า มีคุณลุงท่านหนึ่ง เป็นวิทยากร บรรยาย ท่านพูดเร็วมาก จนฟังแทบไม่ทัน

พูดถึงเรื่องนี้ แล้วนึกขึ้นได้ ว่า ทำไม เราไม่มีมัคคุเทศก์ พาชมพระราชวังบ้างนะครับ อาจจะเป็นน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนอยู่ในเขตพื้นที่แถว ๆ นั้น

แบบมัคคุเทศก์น้อย ของ อาจารย์อำคา แห่งบ้านกู่กาสิงห์ หรือน้อง ๆ มัคคุเทศก์อาสา ที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน .. ผมคิดเยอะไปหรือเปล่าครับ

อีกมุมหนึ่ง ของ หอวิฑูรทัศนา .. วนไปวนมา รูปของหอดูนา ส่องดูดาว มีเพียบเลย อย่าเพิ่งเบื่อซะก่อน นะครับ

เห็นมุมนี้แล้ว ทำให้ผมอดนึกถึง นิทานแนว เจ้าหญิง เจ้าชาย ของฝรั่งไม่ได้ .. เจ้าชายอสูร

มุมแบบนี้ ผมนึกออกแล้ว เหมือนกับวัดในกรุงเทพ หลายวัด ที่คงจะสร้างในยุคสมัยเดียวกัน ทั้งซุ้มโค้ง สีเหลือง ช่องลมเหนือประตู ที่แกะสลักแบบนี้

ฟ้าไม่เป็นใจเอามาก ๆ เลยครับ อากาศขมุกขมัว แต่ไหน ๆ ก็มาแล้ว ยังไง ๆ ก็ต้องถ่ายรูปไปให้หนำใจเข้าไว้

บันไดเวียนขึ้นยังชั้นบน ของหอวิฑูรทัศนา ผมทึ่งกับ งานไม้ ที่ตีโค้ง ได้เนียนมาก คงเป็นเพราะไม้ดี และกาลเวลาที่ยาวนาน ผู้คนลูบคลำ จนเนียน ไร้เสี้ยนตำมือ

ฝากเตือน เพื่อน ๆ ที่ไป ด้วยครับ ผมลืมทอดถุงเท้า ตอนเดินลง ออกจะลื่น ๆ สักนิด ถ้าจะให้ดี ถอดถุงเท้า เดินเท้าเปล่า น่าจะปลอดภัยกว่านะครับ

ผมคลับคล้ายคลับครา ว่า ตอนผมเด็ก ๆ มาตรงอนุสาวรีย์ เหมือนจะต้องเดินเข้าไปในสวนที่ลึก จำไม่ได้ว่ามีสะพานตรงนี้หรือเปล่า แต่ตอนนั้น รู้สึกวิเวก และรู้สึกดื่มด่ำกับบความสงบ ใน สวนลั่นทม ที่ผลิดอกมากมายเลย (ในเวลานั้น)

ดูโครงสร้างสะพานแล้ว น่าจะเป็นสะพานที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ (นึกไม่ออกจริง ๆ ว่าเมื่อก่อนมีหรือเปล่า)

เก๋งจีน มองจาก หอดูนา ส่องดูดาว .. เสียงคุณเกาหลี กลุ่มนั้น ดังมาถึง ตรงนี้เลย ... ฝากคุณเจ้าหน้าที่ เตือน ๆ หน่อยนะครับ ... คนไทย เราสงบเสงี่ยม เพราะสำนึกว่า เป็นเขตพระราชฐาน แต่ท่านอึกทึก เกินเหตุ

ผมว่า เมื่อก่อนสะพานไม่เยอะเท่าเดี๋ยวนี้แน่ ๆ (มันนานมาก จนจำไม่ได้แล้ว น่าจะประมาณ 40 ปีแล้ว จากครั้งโน้นนนน ถึงครั้งนี้)

สีเขียว กับสีขาว ถ้า กางร่มสีแดง ด้วย จะสุดยอดขนาดไหน

ผมมีภาพ ดงลั่นทม อยู่ในหัวมานานแสนนาน แต่มาเห็นอีกครั้ง เหมือนจำนวนลั่นทม จะลดลง (เป็นความรู้สึกนะครับ ข้อเท็จจริง เป็นอย่างไร ไม่แน่ใจ)

แต่ดงลั่นทม ของผม หายไปหลายที่แล้ว อย่างหน้าโรงเรียนสตรีพระนครใต้ ที่ถนนเจริญกรุง (เดี๋ยวนี้ ไม่รู้ว่า เป็นอะไรแล้ว)

อีกอย่างหนึ่ง ต้นลั่นทม ในพระราชวังบางปะอิน จำนวนมาก โดนเพลี้ยลงอย่างหนัก เห็นใบหงิก ยอดหงิก เกือบทุกต้น เลยครับ

อนุสาวรีย์ ราชานุสรณ์ มองจาก ชั้น 2 หอวิฑูรย์ทัศนา

พระที่นั่งอุทยานภูมเสถียร (ที่สร้างใหม่ 2537) มองจากชั้น 2 หอวิฑูรย์ทัศนา

ช่องหน้าต่าง ของหอวิฑูรย์ทัศนา

ระเบียงรอบ ๆ หอวิฑูรย์ทัศนา .. สังเกตดูนะครับ ว่า พื้นชั้นสอง เป็นพื้นไม้ และพื้นชั้นอื่น ๆ รวมทั้ง ระเบียงรอบหอ ล้วนเป็นไม้ .. วันเวลาผ่านไป คงจะเสื่อมสภาพ

อีกมุมมอง หอวิฑูรย์ทัศนา


เช้า ยัน เย็น ที่บางปะอิน (ตอนแรก 1/3) คลิก คลิก

เช้า ยัน เย็น ที่บางปะอิน (ตอนจบ 3/3) คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา