ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
จากเรณูนคร ถึงพระธาตุพนม (ตอนที่ 2/2)
นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เป็นตอนต่อ ของ รีวิว จากเรณูนคร ถึงพระธาตุพนม (ตอนที่ 1/2) เริ่มกันเลยครับ

ก่อนได้คุยกับป้าทองแย้ม ผมยังมีความคิดแบบเดิม ๆ คือ คิดว่าไหอุ มีขนาดเดียว คือ ขนาดใหญ่ ที่ต้องดูดกันเมากลิ้งคาวง แต่จริง ๆ แล้ว อุ ของป้าทองแย้ม มี 3 ขนาด S M L ... อันนี้ผมว่าเองนะครับ

ไหขนาดเล็ก เหมาะที่จะซื้อไปนั่งกินคนเดียว เวลาครึ้มอกครึ้มใจ หรือหิ้วติดไม้ติดมือไปฝากคนที่บ้าน ... อุ หากอยู่ในไห สามารถเก็บได้นานกว่าครึ่งปี

เห็นโรงงานผลิต อุ ของป้าทองแย้ม แล้ว ทำให้ผมนึกถึง สมัยเป็นนิสิต ถ้าใครเคยไปงานเกษตรแฟร์เมื่อก่อน แค่เดินชิมไวน์ตั้งแต่หน้างาน ไปถึงท้ายงาน ก็จะเมาไวน์กันเลยครับ

นิสิตเกษตรยุคนั้น ล้วนแต่ชำนาญเรื่องหมักไวน์ เพื่อการศึกษากันทั้งนั้น หมักกันที 5-6 โอ่งมังกร เวลาไวน์อยู่ในโอ่ง ดูไม่มีราคา แต่พอย้ายมาอยู่ในขวดแก้ว (ขวดยาแก้ไอ) เราก็ตั้งเราราคาได้เว่อร์เลยล๊ะ

ที่นี่ ไม่มีสายพานการผลิต มีแค่ม้านั่งตัวเล็ก ๆ แล้วก็ไหที่ล้างสะอาด พร้อมจะกรอก ข้าวเหนียว ที่ผสมแกลบ คลุกด้วยเชื้อส่า และส่วนผสมพิเศษ (ลับเฉพาะ) กระบวนการง่าย ๆ ที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด หากเป็นความชำนาญพิเศษ ที่แทรกอยู่ทุกขั้นทุกตอน ได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น

ทำไมต้องเป็นไห หน้าตาแบบนี้ ป้าทองแย้ม มีคำตอบให้ผม ... ในช่วงทศวรรษที่แล้ว อุ ไม่ได้ลอยหน้าลอยตา มาขึ้นชั้นอย่างทุกวันนี้ การรวบรวมไห เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย ... จากไหปลาร้า (ความจริงผมเขียนด้วยภาษาท้องถิ่น แต่โปรแกรมเซ็นเซอร์ของเว็บดีเกิน ไม่ยอมแสดงผล เฮ้อออออ มันไม่สุภาพตรงไหนโน๊ะ) ไหน้ำปลา มาสู่ไหอุ ... ทำอย่างไรให้หมดกลิ่นก็เป็นเรื่องยาก แต่การรวบรวมไห โดยไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐระแคะระคาย เป็นเรื่องที่ยากกว่า

ทุกวันนี้ ที่มาของ ไห ไม่ยากนัก หากต้องมีจำนวนขั้นต่ำในการสั่ง เพื่อเขาจะมาส่งให้ถึงที่ ... ความพอเหมาะพอดี ของความแน่นในเนื้อดินเผา ราคา แม้กระทั่งหน้าตา รูปทรง สีสันต์ ได้ให้นิยาม ของคำว่า อุ แห่งเมือง เรณูนคร ... แต่ใช่ว่า จะเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ป้าทองแย้ม ได้เล่าถึง ผ้าแดง ปิดปากไห ทำไมต้องสีแดง ทำไม ทุกร้านต้องปูชั้นด้วยผ้าแดง ทำไมสาแหรกต้องสีเหลือง มีเชือกมัดสีทอง ป้ายแขวนสีเงิน ... ล้วนแต่ไม่เคยมีมาก่อน เมื่อทศวรรษที่แล้ว และยังคงมีพัฒนาการต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง

แม้ไม่มี R & D ... แต่ใจที่เปิดกว้าง รับฟังทุกความเห็น ... อีกไม่นาน เราคงได้เห็น ไหอุ ตั้งอยู่บนโต๊ะดินเนอร์ G8 แม้ว่า จะไม่มีผู้นำของเราร่วมโต๊ะนั้น เพราะมัวแต่ทะเลาะกันบนท้องถนนก็ตาม 

เย็นมากแล้ว พี่ ๆ ที่มา รวมข้าว เข้ากับน้ำ ให้เป็นอุ เสร็จภาระกิจประจำวัน และกำลังเดินทางกลับบ้าน ... ด้านซ้าย คือ ลมโชย ด้านขวา คือ จักรยานที่พี่เขาจะขี่กลับบ้าน ที่อยู่ไม่ไกลเท่าไรนัก

กฏเกณฑ์วิสาหกิจชุมชน ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง แม้ว่า เป็นสิ่งที่เราอยากให้เป็น และดำรงต่อไป แต่หากมันไม่จริง เราก็น่าจะทบทวนกันใหม่ ไม่ดีกว่าหรือ ... เป็นคำถามที่น่าสนใจ จากป้าทองแย้ม ตัวจริงเสียงจริง กับผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อแห่งเรณูนคร

อยู่ ๆ ผมรู้สึกคิดถึงบ้านขึ้นมาเฉย ๆ ซะงั้น เมื่อเห็น เจ้าควายน้อยตัวนี้ กำลังเดินข้ามถนน กลับบ้าน ... ตะวันคล้อยต่ำ ชีวิตที่เรียบง่าย ความเร็วของนาฬิกาเท่ากับควายเดิน แต่ผมอยู่ไกลบ้านเหลือเกิน ผมอยู่กับลมโชย ในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย ... ความรู้สึกแบบนั้น วาบ ขึ้นมา อย่างช่วยไม่ได้

ตัดฉับอีกที ผมกับลมโชย ก็มาถึง วัดพระธาตุเรณูนคร ... เป็นเวลาเย็นมากแล้ว ลานจอดรถกว้าง ดูว่างเปล่า มีเพียงผมและลมโชยเท่านั้น ผมเลยก้าวยาว ๆ อย่างว่องไว

พระธาตุเรณูนคร สีหวาน ทำไมต้องสีหวานด้วย ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ แปลกตาดี

ช่วงนี้ เดินทางผ่านวัดเยอะมาก สิ่งก่อสร้างที่โดดเด่น คงจะหนีไม่พ้น เจดีย์ พระธาตุ สิ่งที่เคยอ่านในหนังสือเล่มหนึ่ง ที่กลาสีที่มากับเรือพร้อมกับเจ้าพระยาโกษา (ปาน) (เป็นนิยายแปล ชื่ออะไรไม่รู้ ของสำนักพิมพ์มติชน) บรรยายจากสิ่งที่ตาเห็นว่า ... สิ่งก่อสร้างอะไรไม่รู้ รูปทรงเหมือนฝาชี ปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า โผล่พ้นทิวไม้

ความจำกัดของเลนส์ ทำให้เกิดความขัดใจขึ้นบ้างเป็นบางครั้ง ทั้ง ๆ ทื่ก็บอกตัวเองว่า มีอะไรก็ใช้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก็แล้วกัน

รายละเอียดที่ปรากฏอยู่บน พระธาตุเรณูนคร สะท้อนคติความเชื่อของผู้คน แห่งชุมชนนี้

อีกมุมหนึ่ง ของพระธาตุเรณูนคร ผมเดินวนรอบ ๆ อยู่คนเดียว รู้สึกว้าเหว่ อย่างไรชอบกล

เย็นมากแล้ว ผมก็เลยเดินออกจากพระธาตุเรณูนคร การเดินทางท่องเที่ยวคนเดียว จะว่าดี ก็ดีอยู่ แต่พอเจอบรรยากาศยามเย็น ที่ไร้ผู้คน ในสถานที่ ที่เราไม่คุ้นเคย ความรู้สึกเหงา ๆ ก็วาบ ๆ ๆ ๆ ขึ้นมา อย่างไม่บอกกล่าวล่วงหน้ากันเลย

อีกมุมหนึ่ง ของ พระธาตุเรณูนคร เป็นภาพสุดท้าย ก่อนที่ผมจะพาคุณลมโชย ห้อแน๊บ ไปยังพระธาตุพนม ที่ห่างออกไปประมาณ 30 กิโล ... อากาศเริ่มเย็น แต่ขี้เกียจจอดรถ เพื่อสวมเสื้อแจ๊คเก็ต ที่ใส่ในเป้สะพายหลัง

ไม่นานนัก ผมก็ถึงวัดพระธาตุพนม แม้จะไม่เคยมา แต่ป้ายที่ปักบอกตลอดทาง ทำให้การเดินทางไม่ยากนัก และเมื่อเข้าสู่ตัว อำเภอธาตุพนม องค์พระธาตุ ก็เด่นเป็นสง่า มองเห็นแต่ไกล ... และเมื่อก้าวเข้าสู่บริเวณวัด บรรยากาศที่นี่ ต่างจากที่พระธาตุเรณูนครมากทีเดียว ผู้คนยังคึกคัก ทั้งคนมาสักการะ เจ้าหน้าที่วัด และผู้ค้า

ตะวันลับฟ้าไปแล้ว หากฟ้ายังพอสว่างบ้าง ผมก็เก็บภาพไปเรื่อย ๆ นึกไม่ออก ว่าหลังจากฟ้ามืดแล้ว จะถ่ายรูปได้อย่างไร

ผมเข้าไปบริเวณ ระเบียงแก้ว รอบพระธาตุพนม อากาศเย็นจนต้องเอาเสื้อกันหนาวมาใส่ พื้นรอบพระธาตุปูด้วยหินอ่อน ที่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สะอาดมาก ผมเดินใส่ถุงเท้า ถุงเท้าไม่ดำเลย

ผมไปนั่งพิงกำแพงด้านหนึ่งของลานรอบ องค์พระธาตุพนม แล้วเล็งกล้องย้อนกลับมาทางประตูที่ผมเดินเข้ามา ถ่ายรูปเสร็จ ก็นั่งนิ่ง ๆ รู้สึกเมื่อยมาทั้งวัน การได้นั่งเหยียดขา เอนพิงกำแพง ช่างมีความสุขอย่าบอกใครเชียวครับ

ฟ้าค่อย ๆ มืดลงเรื่อย ๆ ขณะที่แสงไฟ ก็เริ่มสาดทั่วองค์พระธาตุ ผมก็เก็บภาพไปเรื่อย ๆ ทุก ๆ นาที ฟ้าเปลี่ยนสี บรรยากาศรอบข้าง ค่อย ๆ เปลี่ยนไป

ผมยังคงเดินไปรอบ ๆ องค์พระธาตุพนม ก้ม ๆ เงย ๆ นั่งกับพื้นบ้าง เอกเขนกบ้าง นอนบ้าง ... นอนจริง ๆ นะครับ พื้นสะอาด เย็นดี อยากจะหลับสักตื่นด้วยซ้ำไป

ลองถ่าย องค์พระธาตุพนม มุมนี้บ้าง ออกมาไม่สวย อย่างที่คิดเท่าไร ดูแบน ๆ ไม่ได้สื่อถึงความเป็นองค์พระธาตุพนม

รูปนี้ ผมลงไปนอน แบบไม่เกรงใจ คนที่เดินสวดมนต์รอบ ๆ องค์พระธาตุพนม เขาก็รู้หน้าที่ ที่จะเดินอ้อม ไม่เดินข้ามตัวผม

แป๊บเดียว ฟ้าก็เปลี่ยนไปอีก อยากได้กระถางธูป กับองค์พระธาตุพนม ลงไปนอนเอาแก้มแนบพื้น เล็งกล้องขึ้นมา กว่าจะได้รูปที่คิดไว้ ดูแล้วก็งั้น ๆ

นั่งจนชิด สุดมุมกำแพง ก็ได้แค่นี้ กับเลนส์ 18-135 อยากได้ทั้งคน ทั้งยอดองค์พระธาตุพนม ทำยังไง คนก็ขาขาด หรือจะเอา ยอดพระธาตุด้วนละ เฮ้อออออ

เดินวนมาอีกนิด มุมสวย ๆ ก็ปรากฏ พื้นมันวับ ไม่ได้หลอกตา แต่มันวับจริง ๆ ป้าคนที่ถูพื้น คอยถูตลอด ทั้งมันวับ ทั้งสะอาด ...

ไม่มีเลนส์ไวด์ ก็ต้อง ลงไปนอนเอาแก้มแนบพื้น กลับมาบ้าน สิวขึ้น 3 เม็ด ... เผลอแป๊บเดียว ฟ้ามืดสนิทแล้ว องค์พระธาตุพนม สวยจริง ตามที่น้องที่ ททท. นครพนม ได้แนะนำไว้ ว่า ให้มาถึงที่นี่ ตอนเย็น ๆ และอยู่จนค่ำ

ช่วงที่ผมไป เป็นช่วงที่กำลังดี คือ ยังไม่ใช่เทศกาล เพราะหลังจากที่ผมกลับมาแล้ว มีคนถ่ายรูปตอนมีงาน ลานรอบองค์พระธาตุพนม ที่ดูสงบเยือกเย็น อย่างที่เห็นในภาพ กลับเนืองแน่นไปด้วยผู้คน จนหาที่จะแทรกลงนั่งเพื่อกราบองค์พระธาตุทำไม่ได้เลย

อีกมุมหนึ่ง ขององค์พระธาตุพนม ผมก็ยังคง ลงไปนอนเอาแก้มแนบพื้นได้อย่างเพลิดเพลิน ไม่ต้องเกรงใจใคร

สุดมุมตรงนั้น เมื่อตะกี้ ผมไปซุกจนสุด เพื่อจะเก็บภาพให้หมด ทั้งคน และยอดองค์พระธาตุพนม แต่ก็ไม่สำเร็จ ... ความคิดดี แต่เครื่องมือไม่ให้ ใครมีเลนส์ไวด์ไม่ใช้ จะทิ้ง บอกผมมาได้นะครับ

อีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องขาตั้งกล้อง ที่ผมขี้เกียจมาก ที่จะแบก ทำให้ การได้ภาพสวย ๆ แบบละเอียดคมชัด ในยามเย็น หรือ ยามค่ำคืน ของผม ถูกตัดทิ้งไปเลย

เณร 2 คน มาสักการะองค์พระธาตุพนม โดยทำทักษิณานุวัตร เหมือนเด็ก ๆ ที่ซุกซน

ผู้คนยังคงมาเรื่อย ๆ ไม่เงียบเหงา เหมือนอย่างที่พระธาตุเรณูนคร ใกล้ ๆ กับที่ผมนั่งถ่ายรูปอยู่ตอนนี้ จะมี พระธุดงธ์รูปหนึ่ง มานั่งสวดมนต์อยู่ ท่าทาง คงจะนั่งสวดมนต์ถึงเช้า ... ถ้ามีโอกาส ผมคงได้มาทำแบบนั้นบ้าง สักครั้ง ในชีวิต

ความหิวเริ่มคุกคามมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด ผมก็พ่ายแพ้ ต้องตัดใจล่าถอยออกจากลานรอบองค์พระธาตุนครพนม ใส่รองเท้าแล้ว ก็เดินอ้อมมาทางด้านหน้า เก็บภาพด้านหน้าอีกครั้ง

ภาพสุดท้าย ก่อนที่จะออกจากประตูวัด สู่ลานจอดรถ ที่ปล่อย ลมโชย ให้อยู่คันเดียว ... ระหว่างทางได้เจอแม่ค้าล๊อตเตอรี่หน้าหวาน ที่กำลังจะขี่แมงกะไซค์กลับบ้าน ผมถามอาหารเจ้าอร่อย แม่ค้าบอกไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ยื่น กล้วยน้ำว้าสุก 2 ลูก ให้ผมกินรองท้องไปก่อน

ผมแวะกิน ข้าวต้มเครื่อง + ขนมปังสังขยา ร้านริมทางหน้าร้านสะดวกซื้อ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอ บรรยากาศพอ ๆ กับร้านปากซอยบ้านผมเลย ... ระหว่างการกิน ก็ต้องปฏิบัติตนตามธรรมเนียมของความเป็นคนของประชาชน คือ ถ่ายรูปจากมือถือพร้อมโพสขึ้นเฟสไปเรื่อย ๆ แต่ขี้เกียจเกินที่จะควักกล้องออกจากกระเป๋า

พออิ่มท้องแล้ว อารมณ์อ้อยอิ่งก็กลับมาอีกครั้ง ถึงเวลาพาลมโชย กลับสู่ the river บนเส้นทางประมาณเกือบ 60 กิโล ... ไม่ไกลมากเท่าไร อากาศเย็นฉ่ำ เป็นคืนเดือนแรม ดาวกระจ่างฟ้า ทีเดียว บนถนนที่ไม่ค่อยจะมีรถ ถนนทั้งสาย ราวกับเป็นของผมแต่เพียงผู้เดียว บางช่วงมืดสนิททำให้ดาวชัด ราวกับนั่งอยู่ในท้องฟ้าจำลอง บางช่วงก็สว่างไสวด้วยไฟส่องสว่าง ทำให้รู้สึกไม่อ้างว้างจนเกินไป

เผลอแป๊บเดียว the river ก็อยู่เบื้องหน้า น้อง ๆ ที่ฟร้อน ทักว่า วันนี้ไปเที่ยวสนุกไหม หากผมหมดแรงเกินกว่าจะคุย เพียงยิ้มแล้วพยักหน้าบอกสั้น ๆ ว่าสนุกมากพร้อมส่งกุญแจเจ้าลมโชย ฝากคืนรถที่เช่ามาด้วย ... ลืมบอกไปว่า ผมไม่ได้ขี่แมงกะไซค์มานาน ตอนเติมน้ำมันคืนให้รถ ก็เลยงงเล็กน้อย ที่ขี่รถทั้งวัน ค่าน้ำมันแค่ร้อยเดียว ประหยัดจริง ๆ ขอบอก

ขอตัวก่อนนะครับ อยากอาบน้ำอุ่น ๆ แล้วนอนเอาขาพาดหมอน ฝากเพื่อน ๆ ปลุกผมตอนเช้าด้วยนะครับ บ๊าย บาย เดี๋ยวพรุ่งนี้ เราตื่นแต่เช้า ผมอยากได้ภาพหลวงพี่ หลวงน้า หลวงอา บิณฑบาตร มากเลย ... ตามผมไปด้วยกันนะ


จากเรณูนคร ถึงพระธาตุพนม (ตอนที่ 1/2) .. นครพนม เมืองสงบ ริมฝั่งโขง คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา

อ่างขาง ปากน้ำประแส ระยอง เชียงคาน ปาย แม่ฮ่องสอน โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ ชุมพร ปางอุ๋ง ชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร ที่พักมีจักรยานให้ยืม หมู่บ้านเซรามิคเกาะคา ลำปาง ทุเรียนศรีสะเกษ ปฏิทินท่องเที่ยวชุมชน ล่องแก่งหนานมดแดง พัทลุง พรหมโลก นครศรีธรรมราช ทะเลน้อย ปากประ พัทลุง ล่องแก่ง ล่องเรือ พายเรือ