ค้นหาแหล่งท่องเที่ยว
ป้อนข้อมูลท่องเที่ยว
ตามหาคนสวย ที่ตลาดล่าง เมืองโพธาราม ตอนที่ 2/3
เป้ใบ รองเท้าคู่ รีวิว

เป็นตอนต่อจาก ตามหา คนสวย ที่ตลาดล่าง เมืองโพธาราม ตอนที่ 1/3 ซึ่งจบลงที่ โรงเจ ซุ่นเทียนตั๊ว โพธาราม ซึ่งผมกำลังจะไปต่อ ที่ตลาดล่าง ตามผมไปนะครับ

ออกจาก โรงเจ ซุ่นเทียนตั๊ว ผมก็มุ่งสู่ ตรอกจับกัง (ลายแทงเขาบอกว่าอย่างนั้น)

ใกล้ ๆ กับสี่แยก ที่ลายแทงเมืองโพธารามที่ผมได้มา ระบุไว้ว่า เป็นสี่แยกที่มีการมาถ่ายหนังมาก มีร้านบัดกรี อยู่ร้านหนึ่ง เห็นแล้ว นึกถึงร้านแบบนี้ ที่ปากตรอกบ้านแม่ผม ตอนเด็ก ๆ ไม่ได้ ... ยังไง อย่างงั้น เลยครับ

ร้านบัดกรี ร้านนี้ ชื่อว่า ร้านสถิตย์พานิช ... ผมขออนุญาติถ่ายรูป รอบ ๆ ร้าน จากเจ้าของร้าน ... เขาบอกว่า ตามสบาย ร้านเขามีคนมาถ่ายรูปบ่อย ... ผมคิดว่า ก็คงตามนั้น เพราะดูแล้ว ในร้านมีเรื่องราวมากมายจริง ๆ

ถ้าอุปกรณ์ ที่วางอยู่ในร้าน สามารถพูดได้ ผมคงได้นั่งฟัง เป็นวัน ๆ ทีเดียว

บางสิ่ง เป็นความมหัศจรรย์ ในสายตาของผม เป็นอย่างยิ่ง

ก็แค่ ปากกาจับของ ธรรมดา ๆ ชิ้นหนึ่ง ... แต่ดูอีกที ก็คงไม่ธรรมดา สักเท่าไร

เวลา วางอยู่บนเตา เพื่อชงโอเลี้ยงให้ผมกิน กับเวลา ที่แขวนอยู่ในร้านแบบนี้ อารมณ์ช่างแตกต่างกันมากมาย

ร่องรอยแห่งกาลเวลา ความมั่นคง ปลอดภัย ขึ้นอยู่กับสกรูเล็ก ๆ แค่สี่ตัว หลายครั้งที่ได้แปรเปลี่ยน อาจเป็นเพราะความหลงลืม ว่าเอาลูกกุญแจ ไปวางไว้ที่ไหนก็ได้

ตะขอเกี่ยวแขวน เพื่อจะโชว์ว่า ชิ้นนี้ เราก็มีขายนะ ... แต่ดูจากร่องรอยฝุ่นที่จับ ตะขอคงไม่ได้ทำหน้าที่ มานานพอสมควรทีเดียว

ตรงสี่แยก ซอยจับกัง ที่ลายแทง ระบุว่า เป็นสี่แยกที่มีการมาถ่ายหนังบ่อย ๆ ยังคงความเก่าแก่ ของเมือง

ไม่ได้ติดป้ายว่าร้านกาแฟโบราณ แต่สิ่งที่ประกอบกันขึ้นเป็นร้าน ให้บรรยากาศ ร้านกาแฟ ปากซอยบ้านผม เมื่อราว ๆ สามสิบกว่าปี ที่ผ่านมา

ซอยจับกัง กับ ถนนราษฎรอุทิศ ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกันเลย แต่ดูจากลายแทง น่าจะเป็นถนนเดียวกัน ... เรื่องราวของจับกัง คือ ในยุค ที่การเดินทางโดยรถไฟ และเรือ มีความเกี่ยวข้องอย่างแยกกันไม่ได้ แรงงาน ที่ขนส่งจากลง หรือขนขึ้นรถไฟ ต้องใช้แรงงานคน ผู้คนที่ขายแรงงานเหล่านั้น ได้มาพำนักกันอยู่ในซอยนี้ เนื่องจากห่าง จากสถานีรถไฟไม่เกินร้อยก้าว

ร้านกาแฟ เก่าแก่ของโพธาราม รู้ได้โดยไม่ต้องบอก .. คุณป้าสองท่าน รอให้บริการแต่เช้า

อุปกรณ์ชงกาแฟ หน้าตาแปลก ๆ ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ไม่รู้จดลิขสิทธิไว้หรือเปล่า

ช่วงเช้า ๆ ผู้คน คงไปชุมนุมที่ตลาดเช้า ริมน้ำกันหมด

เด็กรุ่นใหม่ อาจจะสงสัย อะไร คือ ถ่าน

เมื่อก่อน ผมเห็น ร้านรองเท้าแบบนี้ มีอยู่ทั่วไป หากปัจจุบัน เหมือนจะหายหน้าหายตาไป จะเหลือก็แต่ ร้านซ่อมรองเท้าแบบตู้ ซึ่งดูเหมือนว่า ฝีมือจะด้อยกว่าเมื่อก่อน

เถ้าแก่ร้าน .. จงเจริญ โพธาราม .. พร้อมอุปกรณ์ อยากแนะนำ สำหรับเพื่อน ๆ ที่ต้องการรองเท้าแบบสั่งตัดเฉพาะ ใช้บริการได้ครับ

ยังเช้าอยู่มาก พี่เขาเลยยังจัดร้านไม่เสร็จ ว่าง ๆ แวะไปใช้บริการได้ครับ ... ร้านรองเท้าจงเจริญ โพธาราม ... จะซ่อม หรือจะสั่งตัด ใช้บริการได้

บ้านอีกหลังหนึ่ง บน ถนนเลียบทางรถไฟ อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟโพธารามมากนัก

นี่คือ .. ซอยจับกัง .. ซึ่งยุคหนึ่ง เป็นที่พักอาศัยของจับกัง ผู้ใช้แรงงานในการแบกหามของ ขึ้น-ลง รถไฟ

เครื่องมือทำมาหากิน และ การดำรงชีวิต ของคนชนบท คนในเมืองอาจไม่คุ้นเคย แม้บางอย่างเราจะใช้สำนวนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ เช่น สุ่มตัวอย่าง ตีปลาหน้าไซ

มีคนฝากมาชิม เต้าหู้ดำ เมืองโพธาราม ... เจอแล้วครับ ร้านแรก ร้านเต้าหู้ดำเจ๊อั๊ง ... คุณป้าหน้าร้าน กวักมือเรียก มา ๆ ๆ ถ่ายรูปได้เลย แถมถามด้วยว่า มาจากรายการไหน

รายการไหนดีครับ ผมไม่รู้จะตอบยังไงดี ... มาเที่ยวครับ แล้วก็ชอบถ่ายรูปอีกต่างหาก ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

คุณป้า ที่นั่งหน้าร้าน เต้าหู้ดำเจ๊อั๊ง นำเต้าหู่ในหม้อ ใหม่ ๆ มาหั่นให้ผมชิม อร่อยครับ เป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ผมได้ชิมเต้าหู้ดำ ทุกทีกินแต่เต้าหู้ ในหม้อพะโล้

คุยไป คุยมา ถึงได้รู้ว่า คุณป้าที่ผมคุยด้วย คือเจ๊อั๊ง นั่นเอง ... ขออนุญาติเรียกเจ๊อั๋ง นะครับ เขิน ๆ ยังไงไม่รู้

เจ๊อั๊ง พาผมไปดู ฝาชียักษ์ (ปกติคนจีนจะตั้งอาหารไว้บนโต๊ะ ก็เลยต้องมีฝาชีครอบไว้) ผมขอแถมให้นิดนึง ว่านอกจากจะมีขนาดใหญ่แล้ว อาจจะต้องขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุด้วย เจ๊อั๊งเล่าให้ฟังว่า ฝาชีนี้ เป็นฝาชีสั่งทำ ราคาเท่ากับทองสองสลึงทีเดียว (ตอนนั้น ราคาทองบาทละสี่ร้อยกว่าบาท)

เจ๊อั๋ง พาผมเขาไปดูในครัว สถานที่ ที่ทำเต้าหู่ดำ ดูสะอาดสะอ้าน มีเต้าหู้ดำ ที่ทำแล้วหลายหม้อ (หม้อใหญ่มาก) ทุกหม้อมีฝาปิดไว้เรียบร้อย แต่เป็นฝา ที่เจาะรู เจ๊อั๊งบอกว่า เป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ในการทำให้เต้าหู้ดำ อร่อย

เพื่อจะได้เห็นกันชัด ๆ เจ๊อั๊ง ก็เลยเปิดฝา ให้ดูเต้าหู้ดำกันจะจะ มีหลายหม้อเลยครับ .. นอกจากนี้ เจ๊อั๊ง ยังได้ให้ดูงาน R&D (เรียกซะเท่ห์เลยนะครับ) ของทางร้าน คือ ทางร้านได้ทดลอง นำเต้าหู้ดำไปแช่เยือกแข็ง ซึ่งสามารถเก็บได้เป็นปี เมื่อนำนึ่ง รสชาติ ยังอร่อยเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

แต่ยังไม่เหมาะ ที่จะส่งทางพัสดุไปรษณีย์ เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมาก แต่ใครอยากกิน แล้วยอมรับเรื่องค่าจัดส่ง ก็คงไม่มีปัญหานะ เจ๊อั๊งจะจัดส่งให้ (อันหลังนี้ ผมเติมให้เองนะครับ)

บรรพชนของเจ๊อั๊ง ที่ได้มาอยู่ในโพธาราม รุ่นแรก ๆ แต่เท่าที่ผมฟังจากคำบอกเล่า ประวัติศาสตร์น่าจะลึกกว่านี้นะครับ

ระหว่างที่ได้พูดคุยกับ ต้นตำหรับเต้าหู้ดำเจ๊อั๊ง (เต้าหู้ดำ ในโพธาราม มีหลายแบรนด์ครับ) ก็มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อพอสมควร ... เจ้าประจำ ของใครของมันครับ เรื่องอร่อย คงไม่มีมาตราฐานวัด แต่ละคนชอบไม่เหมือนกัน บางคนชอบหวาน บางคนชอบเค็ม บางคนชอบจืด

แต่มีเรื่องเล่า ฮา ๆ จากคนสวยโพธาราม คนหนึ่ง บอกว่า ปกติชอบกินเต้าหู้ดำ ยี่ห่อแม่เล็กมากกว่า แต่ก็คุ้นเคยกับเจ๊อั๊ง แล้วร้านทั้งสองก็อยู่ใกล้ ๆ กัน มีห้องคั่นแค่สองห้อง เวลาจะซื้อ ต้องหลบ ๆ กัน เหมือนคนส่งยาบ้ายังไง ยังงั้น

ป้ายใหญ่ แขวนเด่น ขวางถนน ใครบ้างจะไม่เห็น

ช่วงเดินผ่าน ร้านเต้าหู้ดำแม่เล็ก (เจ้าแรก) เห็นเขากำลังยุ่ง ๆ ก็เลยถ่ายแค่ป้าย ด้วยความสงสัย เรื่องวงเล็บ ก็เลยถามคนสวยโพธาราม (แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ของสำนักข่าวเรา)

น้องเขาบอกว่า ก็เห็นเจ้านี้ ตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อก่อนต้มสองหม้อ ด้วยเตาถ่านเตาเดียว ต้มสลับกัน หม้อนี้เดือด ก็ยกลง เอาอีกหม้อขึ้น ต้มไปเรื่อย ดำเข้าไปถึงข้างใน แล้วก็เด้งดึ้ง ๆ เหมือนไข่พะโล้ ที่ต้มหลาย ๆ วัน แต่เดี๋ยวนี้ ต้มไม่ทันขาย คนที่กิน ก็ไม่เคยกินอย่างที่เธอกินเมื่อก่อน ก็เลยไม่รู้ว่า ของดั้งเดิมเป็นอย่างไร เอาเป็นว่า หน้าตาแบบที่กินอยู่ทุกวันนี้ คงจะใช่สูตรดั้งเดิม

ฟัง ๆ ดู ก็ยังไม่ตอบ คำถาม เรื่องในวงเล็บ อยู่ดีนะครับ ... คนสวยโพธาราม แหล่งข่าวคนเดิม บอกว่า เมื่อก่อน หลาย ๆ บ้านก็ทำกินกัน ไม่ได้ทำขาย ... ก่อนหน้านี้ ก็เคยไปซื้อกิน ที่วัด .... (ผมจำชื่อไม่ได้แล้ว) สรุป ก็ยังไม่ตอบโจทย์ ในวงเล็บอยู่ดี

เมืองเล็ก ๆ ผู้ประกอบการรายย่อย ยังสามารถดำรงอยู่ได้ โดยไม่โดนกระแสระบบทุน พัดหายไปในกระแส แต่จะอีกนานแค่ไหน ที่อยู่ได้ คงต้องให้หลาย ๆ คนช่วยกันตอบครับ

แม้เมืองโพธาราม จะเป็นเมืองเล็ก ๆ แต่ผมเห็น ศาลเจ้า หลายแห่ง และแต่ละแห่ง ก็มีขนาดใหญ่ งดงาม ทีเดียว

ผมเดินผ่าน ร้านขายของเบ็ดเตร็ด มีอุปกรณ์ที่หลาย ๆ คนอาจไม่ชินตา อย่างเช่นในภาพ คนรุ่นใหม่ อาจจะสงสัย ว่า คืออะไร ไว้ทำอะไร ทำมาจากอะไร ... ใครอายุไม่เกิน 25 ปี ลองตอบมาสิครับ ตอบแบบไม่ต้องไปค้นจาก google นะครับ

ช่วงที่ผมไปเมืองโพธารามนั้น เป็นช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ เทศกาลกินเจ หลายบ้านหน้าโรงเจ จะมีกิจกรรมพับกระดาษ อย่างที่เห็น คุณป้าบอกว่า เป็นส่วนประกอบหนึ่ง ของภูเขาทอง (อะไรสักอย่าง ที่ผมไม่เข้าใจครับ)

ที่โพธาราม มีบะหมี่เจ้าอร่อย หลายเจ้า .. ร้านเฮียเต็ก .. ก็เป็นหนึ่งในนั้น ผมมาถึงตอนอาหารเที่ยงพอดี เลยได้ชิมไป 2 ชาม อร่อยสมคำบอกกล่าว ที่สำคัญ ผมจ่ายเงินเท่ากับผมกิน 1 ชาม ที่ปากซอยบ้านผม

รายละเอียด ของ ร้านบะหมี่เป็ดหยู่ไอ่ .. บะหมี่เฮียเต็ก .. มีรับงานนอกด้วยครับ ใครสนใจ ติดต่อได้ตามนั้น ยืนยันความอร่อย (ไม่ได้กินฟรีแล้วมาเชียร์นะครับ จ่ายเงินครบ 2 ชามเลย)

ยังมีเรื่องราวอีกมาก ที่ผมได้พบเจอ และเก็บภาพ ... ตามหา คนสวย ที่ตลาดล่าง เมืองโพธาราม ...  หากสนใจ คลิกไปดูได้ครับ ตอนที่ 3/3 (ตอนจบ)


ตามหาคนสวย ที่ตลาดล่าง โพธาราม ตอนที่ 1/3 (ตอนแรก) คลิก คลิก

ตามหาคนสวย ที่ตลาดล่าง โพธาราม ตอนที่ 3/3 (ตอนจบ) คลิก คลิก


รีวิวอื่น ๆ ของ เป้ใบ รองเท้าคู่

Booking.com

หน้าแรก | ท่องเที่ยวใน กทม. | ท่องเที่ยวในภาคเหนือ | ท่องเที่ยวในภาคกลาง | ท่องเที่ยวในภาคอีสาน | ท่องเที่ยวในภาคตะวันออก | ท่องเที่ยวในภาคใต้ | ลงโฆษณา | ติดต่อเรา

อ่างขาง ปากน้ำประแส ระยอง เชียงคาน ปาย แม่ฮ่องสอน โฮมสเตย์เกาะพิทักษ์ ชุมพร ปางอุ๋ง ชุมชนเก่าริมน้ำจันทบูร ที่พักมีจักรยานให้ยืม หมู่บ้านเซรามิคเกาะคา ลำปาง ทุเรียนศรีสะเกษ ปฏิทินท่องเที่ยวชุมชน ล่องแก่งหนานมดแดง พัทลุง พรหมโลก นครศรีธรรมราช ทะเลน้อย ปากประ พัทลุง ล่องแก่ง ล่องเรือ พายเรือ